วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พระอรหันต์ในบ้าน

พ่อแม่ เปรียบเสมือน พระอรหันต์ของลูก                                                                         ท่านมีน้ำใจบริสุทธิ์ต่อลูกมากมายนัก ท่านเลี้ยงดูเรามาตั้งแต่อยู่ในท้องของท่าน ทนทุกข์ทรมานร่วมเก้าเดือนบ้างสิบเดือนบ้าง แต่ท่านก็ไม่เคยปริปากบ่นสักนิด มีแต่ความสุขใจ แม้ลูกเกิดออกมาแล้วพิกลพิการ หูหนวก ตาบอด ท่านก็ยังรักยังสงสารเพราะท่านคิดเสมอว่านั้นคือสายเลือด ถือว่าเป็นลูกไม่เคยคิดรังเกียจและทอดทิ้ง แต่ท่านกลับจะเพิ่มความรักความสงสารมากยิ่งขึ้น ครั้นตอนที่เราเป็นเด็กเล็ก ๆ ก็ซุกซนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เราเคยหยิก เคยข่วน ทุบ ตี เตะ ต่อย กัด หรือด่าทอพ่อแม่ต่าง ๆ นานา เพราะความไร้เดียงสา ท่านก็ไม่เคยโกรธเคือง กลับยิ้มร่าชอบใจ เพิ่มความรักความเอ็นดูให้ท่านเสียอีก แม้เราจะเป็นผู้ใหญ่รู้ผิดชอบชั่วดี แต่บางครั้ง ด้วยความโกรธ ความหลง เราก็ยังทุบตีหรือด่าทอท่านอยู่ แทนที่ท่านจะโกรธถือโทษเอาผิดต่อเรา ท่านกลับยอมนิ่งเฉยยอมที่จะทนรับทุกข์เพียงฝ่ายเดียว ยอมเสียน้ำตา ยอมเป็นเครื่องรองรับมือ รับเท้า และปากของเรา สำหรับลูกแล้ว ท่านเสียสละให้ทุกอย่าง ท่านให้อภัย ในการกระทำของเราเสมอเพราะท่านกลัว เราจะมีบาปมีกรรมติดตัว จึงยอมที่จะเจ็บยอมทุกข์เสียเอง ไม่มีใครในโลกนี้ที่จะรักเรา และหวังดีต่อเราอย่างจริงจังและจริงใจเหมือนพ่อแม่ ท่านเลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เล็กจนเราเติบใหญ่ ทุ่มเทแรงกายแรงใจ และกำลังทรัพย์ ให้แก่เราอย่างมากมาย จนไม่อาจประมาณค่าเป็นตัวเลขได้ ทั้งนี้เพราะมันมากมายจนเกินกว่าจะประมาณค่าได้ และในบางครั้ง ลูกหลงผิดเป็นคนชั่วด้วยอารมณ์แห่งโทสะ เป็นคนเมาขาดสติ ก่อกรรมทำเข็ญเป็นที่เดือนร้อนแก่ชาวบ้าน ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายของบ้านเมือง ในสายตาของท่านแล้ว เมื่อมีภัยสู่ลูกก็ยังโอบไปปกป้องรักษาช่วยเหลือลูกอย่างเต็มกำลัง และสุดความสามารถ ยอมเสียทรัพย์สินและเงินมากมายเพื่อให้ลูกได้พ้นผิด ถึงแม้ว่าบางครั้งลูกต้องถูกจองจำหมดแล้วซึ่งอิสรภาพด้วยอาญาแห่งแผ่นดิน ก็คงมีแต่พ่อแม่เท่านั้นที่คอยหมั่นดูแลไปเยี่ยมไปเยียน คอยส่งน้ำส่งข้าวปลาอาหาร คอยให้กำลังใจแก่ลูก ให้ต่อสู้กับความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานของจิตใจที่ลูกได้รับ และรอนับเวลาที่ลูกจะกลับมาสู่อ้อมกอดอีกครั้งหนึ่ง

น้ำใจที่มีต่อลูกเช่นนี้เปรียบเท่ากับน้ำใจของพระอรหันต์โดยแท้ พ่อแม่จึงเป็นพระอรหันต์ในบ้านของเราจริง ๆ ทำไมพวกท่านจึงไม่คิดที่จะบุญกับพระอรหันต์ที่อยู่ในบ้านของท่านเล่า

สำหรับลูก ถึงแม้พ่อแม่จะเป็นโจรเป็นคนชั่วในสายตาของบุคคลอื่น แต่สำหรับลูกแล้ว ท่านเสียสละได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง แม้แต่ชีวิตท่านก็สามารถเสียสละให้ลูกได้ พ่อแม่มีลูกนับ ๑๐ คนเลี้ยงดูมาเติบใหญ่ แต่ลูกทั้ง ๑๐ คนกลับเลี้ยงดูพ่อแม่เพียง ๒ คนไม่ได้ ชอบเกี่ยงกันเพราะลูกเหล่านั้นกำลังลืมคำว่า พระคุณของพ่อแม่

ยามที่พ่อแม่ท่านมีชีวิตอยู่เราควรที่จะเลี้ยงดูพ่อแม่ โดยการซื้อหาอาหารการกิน ซื้อเสื้อผ้า พาท่านไปทำบุญทำทาน เข้าวัดเข้าวา อะไรก็ตามที่ทำแล้วให้ท่านมีความสุขก็ควรทำให้ท่าน ดูแลความทุกข์สุขและเลี้ยงดูจิตใจท่าน เชื่อฟังในโอวาทคำเตือนของท่าน คำพูดคำจาที่จะพูดกับท่านก็ต้องระมัดระวัง เพราะคนแก่นั้นใจน้อย ต้องรักษาน้ำใจท่าน ไว้ด้วยคำพูดที่นิ่มหู ฟังดูแล้วไม่ทำให้ท่านไม่สบายใจ ไม่ปล่อยทิ้งท่านอยู่อย่างว้าเหว่ คอยเอาใจใส่ปรนนิบัติดูแลท่านอย่างใกล้ชิด แต่คนส่วนมากมักจะทำบุญให้พ่อแม่ เมื่อยามที่ท่านตายจากเราไปแล้ว เพราะนั่นคือการพลาด และเป็นการพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเราเอง ซึ่งความจริงแล้วเราควรที่จะทำบุญให้กับพ่อแม่ในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้กตัญญูกตเวที



ขอบคุณที่มา : อมตะธรรม หลวงปู่โต

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วันออกพรรษา


วันออกพรรษา หรือ วันปวารณาออกพรรษา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่งในประเทศไทย เนื่องจากเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาจำพรรษา 3 เดือนของพระสงฆ์เถรวาท โดยเป็นวันที่พระสงฆ์จะทำสังฆกรรมปวารณาออกพรรษาในวันนี้ วันออกพรรษาตามปกติ (ออกปุริมพรรษา1) จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (ประมาณเดือนตุลาคม) หลังวันเข้าพรรษา 3 เดือน ตามปฏิทินจันทรคติไทย
การออกพรรษานั้น ถือเป็นข้อปฏิบัติตามพระวินัยสำหรับพระสงฆ์โดยเฉพาะ เรียกว่า "ปวารณา"[1] จัดเป็นญัตติกรรมวาจาสังฆกรรมประเภทหนึ่ง ที่ถูกกำหนดโดยพระวินัยบัญญัติให้โอกาสแก่พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ร่วมกันตลอดไตรมาสสามารถว่ากล่าวตักเตือนและชี้ข้อบกพร่องแก่กันและกันได้โดยเสมอภาค ด้วยจิตที่ปรารถนาดีซึ่งกันและกัน เพื่อสามารถให้พระสงฆ์ที่ถูกตักเตือนมีโอกาสรับรู้ข้อบกพร่องของตนและสามารถนำข้อบกพร่องไปแก้ไขปรับปรุงตัวให้ดียิ่งขึ้น
เมื่อถึงวันออกพรรษา พุทธศาสนิกชนถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเข้าวัดเพื่อบำเพ็ญกุศลแก่พระสงฆ์ที่ตั้งใจจำพรรษาและตั้งใจปฏิบัติธรรมมาตลอดจนครบไตรมาสพรรษากาลในวันนี้ และวันถัดจากวันออกพรรษา 1 วัน (แรม 1 ค่ำ เดือน 11) พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยยังนิยมไปทำบุญตักบาตรครั้งใหญ่ เรียกว่า ตักบาตรเทโว หรือ ตักบาตรเทโวโรหนะ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติที่กล่าวว่า ในวันถัดวันออกพรรษาหนึ่งวัน พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงจากเทวโลกกลับจากการโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในพรรษาที่ 7 เพื่อลงมายังเมืองสังกัสสนคร[2]พร้อมกับทรงแสดงโลกวิวรณปาฏิหาริย์เปิดโลกทั้งสามด้วย[3]
นอกจากนี้ ช่วงเวลาออกพรรษาตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ถือเป็นเวลากฐินกาลตามพระวินัยปิฎกเถรวาท เป็นช่วงเวลาที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยจะเข้าร่วมบำเพ็ญกุศลเนื่องในงานกฐินประจำปีในวัดต่าง ๆ ด้วย โดยถือว่าเป็นงานบำเพ็ญกุศลที่ได้บุญกุศลมากงานหนึ่ง