วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

วันลอยกระทง


รู้จักประเพณี ลอยกระทง

.             ประเพณีลอยกระทงนั้นมีมาแต่โบราณ โดยมีที่มาจาก คติความเชื่อหลายอย่าง เช่น เชื่อว่าเป็นการบูชาและขอขมาแม่พระคงคา เป็นการสะเดาะเคราะห์ เป็นการบูชาพระเจ้าในศาสนาพราหมณ์ หรือเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท เป็นต้น
.             การลอยกระทงนิยมทำกันในวันเพ็ญ เดือน ๑๒ ของทุกๆปี อันเป็นฤดูน้ำหลาก น้ำจะเต็มสองฝั่งแม่น้ำ ประกอบกับเป็นวันพระจันทร์เต็มดวง เมื่อแสงจันทร์ส่องกระทบกับท้องน้ำ ก่อให้เกิดบรรยากาศงดงาม เหมาะแก่การลอยกระทงเป็นอย่างยิ่ง และที่สำคัญที่สุด คงเป็นเพราะการกระทำการในคืนวันเพ็ญนั้น แสงจันทร์ส่องสว่าง ก่อให้เกิดความปลอดภัย และสะดวกในการทำกิจกรรม เนื่องจากในสมัยก่อน เรายังไม่มีไฟฟ้าใช้นั่นเอง

ความเป็นมาของประเพณีลอยกระทง

.             กล่าวได้ว่า มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี จากหลักฐาน ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ได้กล่าวถึง งานเผาเทียน เล่นไฟ ของสุโขทัยไว้ ซึ่งนักวิชาการต่างเห็นพ้องต้องกันว่า งานดังกล่าวน่าจะเป็น งานวันลอยกระทง
.             นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงใน พระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน และตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งกล่าวถึงประเพณีลอยกระทงไว้ด้วย โดยได้กล่าวว่า นางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอกในพระร่วงเจ้า แห่งกรุงสุโขทัย เป็นผู้ริเริ่มประดิษฐ์กระทง สำหรับลอยประทีปรูปดอกบัวบานขึ้น เป็นคนแรก และประทีปรูปดอกบัวบานของ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ก็ยังคงรูปแบบมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะมีความหลากหลาย ในด้านของวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นแป้งขนมปัง ใบตอง กระดาษสา ฯลฯ ก็ตาม
.             วันลอยกระทงสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือ กระทง ซึ่งปัจจุบันนี้ มีการอนุรักษ์ธรรมชาติมากขึ้น ดังนั้นจึงมีการรณรงค์ ให้งดใช้ กระทงที่ทำจากวัสดุย่อยสลายยาก เช่น โฟม เป็นต้น และในกระทงนี้ นอกจากจะมี ดอกไม้ ธูป เทียน แล้ว ยังนิยมใส่ ผม เล็บ และเศษเหรียญ ลงไปด้วย เชื่อว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ไปในตัว

ตำนานการลอยกระทง

เพื่อบูชาพระจุฬามณี

.         เมื่อครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกจากพระนครกบิลพัสดุ์ในเวลากลางคืนด้วยม้ากัณฐกะ พร้อมนายฉันทะมหาดเล็กผู้ตามเสด็จ ครั้นรุ่งอรุณก็ถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที เจ้าชายทรงขับม้ากัณฐกะกระโจนข้ามแม่น้ำไปโดยสวัสดี
.         เมื่อทรงทราบว่าพ้นเขตกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว เจ้าชายสิทธัตถะจึงเสด็จลงประทับเหนือหาดทรายขาวสะอาด ตรัสให้นายฉันทะนำเครื่องประดับและม้ากัณฐกะกลับพระนคร ทรงตั้งพระทัยปรารภจะบรรพชา โดยเปล่งวาจา “สาธุ โข ปพฺพชฺชา” แล้ว จึงทรงจับพระเมาลีด้วยพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ตัดพระเมาลี แล้วโยนขึ้นไปบนอากาศ พระอินทร์ได้นำผอบทองมารองรับพระเมาลีไว้ และนำไปบรรจุยังพระจุฬามณีเจดียสถานในเทวโลก พระจุฬามณีตามปกติมีเทวดาเหาะมาบูชาเป็นประจำแม้พระศรีอริยเมตไตรย เทวโพธิสัตว์ซึ่งในอนาคต จะมาจุติบนโลกและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งก็ยังเสด็จมาไหว้ การลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณี จึงถือเป็นการไหว้บูชาพระศรีอริยไตรยด้วย

เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากเทวโลก

.         เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวชจนได้บรรลุธรรมเป็นพระสัมมา สัมพุทธเจ้าแล้ว หลังจากเผยพระธรรมคำสั่งสอนแก่สาธุชนโดยทั่วไปได้ระยะหนึ่ง จึงเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาธรรมโปรดพระพุทธมารดา ครั้งจำพรรษาจนครบ ๓ เดือน พระองค์จึงเสด็จกลับลงสู่โลกมนุษย์ เมื่อท้าวสักกเทวราชทราบพุทธประสงค์ จึงเนรมิตบันไดทิพย์ขึ้น อันมี บันไดทอง บันไดเงิน และบันไดแก้ว ทอดลงสู่ประตูเมืองสังกัสสนคร บันไดแก้วนั้นเป็นที่ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลง บันไดทองเป็นที่สำหรับเทพยดาทั้งหลายตามส่งเสด็จ บันไดเงินสำหรับพรหมทั้งหลายส่งเสด็จ ในการเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ครั้งนี้ เหล่าทวยเทพและประชาชนทั้งหลาย ได้พร้อมใจกันทำ การสักการบูชาด้วยทิพย์บุปผามาลัย การลอยกระทงตามคตินี้ จึงเป็นการรับเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากดาวดึงส์พิภพ (เป็นตำนานเดียวกับประเพณีการตักบาตรเทโวรับเสด็จพระพุทธองค์ลงจากดาวดึงส์)

เพื่อบูชาพระนารายณ์บรรทมสินธุ์

.         ยังมีพิธีการลอยกระทงตามคติพราหมณ์อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งกระทำเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้า คือ พระนารายณ์ที่บรรทมสินธุ์อยู่ในมหาสมุทร นิยมทำกันในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ หรือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ เป็น ๒ ระยะ จะทำในกำหนดใดก็ได้

เพื่อบูชาท้าวพกาพรหม

.         นิทานต้นเหตุเกี่ยวกับอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นนิทานชาวบ้าน กล่าวถึงเมื่อครั้งดึกดำบรรพ์ มีกาเผือกสองตัวผัวเมียทำรังอยู่บนต้นไม้ในป่าหิมพานต์ใกล้ฝั่งแม่น้ำ วันหนึ่งกาตัวผู้ออกไปกากินแล้วหลงทานกลับรังไม่ได้ ปล่อยให้นางกาตัวเมียซึ่งกกไข่อยู่ ๕ ฟองรอด้วยความกระวนกระวายใจ จนมีพายุใหญ่พัดรังกระจัดกระจาย ฟองไข่ตกลงน้ำ แม่กาถูกลมพัดไปทางหนึ่ง
.         เมื่อแม่กาย้อนกลับมามีรังไม่พบฟองไข่ จึงร้องไห้จนขาดใจตาย ไปเกิดเป็นท้าวพกาพรหมอยู่ในพรหมโลก ฟองไข่ทั้ง 5 นั้นลอยน้ำไปในสถานที่ต่างๆ บรรดาแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โคและแม่ราชสีห์ มาพบเข้า จึงนำไปรักษาไว้ตัวละ ๑ ฟอง ครั้งถึงกำหนดฟักกลับกลายเป็นมนุษย์ทั้งหมดไม่มีฟองไหนเกิดมาเป็นลูกกาตาม ชาติกำเนิดเลย กุมารทั้ง ๕ ต่างเห็นโทษภัยในการเป็นฆราวาสและเห็นอานิสงส์ในการบรรพชา จึงลามารดาเลี้ยงไปบวชเป็นฤาษีทั้ง ๕ ได้มีโอกาสพบปะกันและถามถึงนามวงศ์และมารดาของกันและกัน จึงทราบว่าเป็นพี่น้องกัน
ฤาษีทั้ง ๕ มีนามดังนี้
* คนแรก ชื่อ กกุสันโธ (วงศ์ไก่)
* คนที่สอง ชื่อ โกนาคมโน (วงศ์นาค)
* คนที่สาม ชื่อ กัสสโป (วงศ์เต่า)
* คนที่สี่ ชื่อ โคตโม (วงศ์โค)
* คนที่ห้า ชื่อ เมตเตยโย (วงศ์ราชสีห์)
.         ต่างตั้งจิตอธิษฐาน ว่าถ้าต่อไปจะได้ไปเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ขอให้ร้อนไปถึงมารดา ด้วยแรงอธิษฐาน ท้าวพกาพรหมจึงเสด็จมาจากเทวโลก จำแลงองค์เป็นกาเผือก แล้วเล่าเรื่องราวแต่ทนหลังให้ฟัง พร้อมบอกว่าถ้าคิดถึงมารดา เมื่อถึงเพ็ญเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ ให้เอาด้ายดิบผูกไม้ตีนกา ปักธูปเทียนบูชาลอยกระทงในแม่น้ำ ทำอย่างนี้เรียกว่าคิดถึงมารดา แล้วท้าวพกาพรหมก็ลากลับไป
.         ตั้งแต่นั้นมา จึงมีการลอยกระทงเพื่อบูชาท้าวพกาพรหม แล้วเพื่อบูชารอยพระบาท ซึ่งประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ส่วนฤาษีทั้ง ๕ ต่อมาได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ดังนี้
* ฤาษีองค์แรก กกุสันโธ ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระกกุสันโธ
* ฤาษีองค์ที่สอง โกนาคมโน ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระโกนาคมน์
* ฤาษีองค์ที่สาม กัสสโป ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระกัสสปะ
* ฤาษีองค์ที่สี่ โคตโม ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระสมณโคดม
* ฤาษีองค์ที่ห้า เมตเตยโย ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระศรีอาริยเมตไตรย
.         พระพุทธเจ้า ๓ พระองค์แรก ได้มาบังเกิดบนโลกแล้วในอดีตกาล พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๔ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๕ คือ พระพุทธเจ้าที่จะมาบังเกิดบนโลกในอนาคต ได้แก่ พระศรีอาริยเมตไตรย

เพื่อบูชาพระอุปคุตต์

.         การลอยกระทงเพื่อบุชาพระอุปคุตต์นี้ เป็นประเพณีของชาวเหนือและชาวพม่า พระอุปคุตต์เป็นพระอรหันต์เถระหลังสมัยพุทธกาล โดยมีตำนานความเป็นมาดังนี้
.         เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้โปรดให้สร้างพระสถูปเจดีย์และพุทธวิหารขึ้นทั่วชมพูทวีป มหาวิหารที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ “อโศการาม” ซึ่งตั้งอยู่ในเขตแคว้นมคธ หลังจากที่สร้างพระสถูปเจดีย์ถึง ๘๔,๐๐๐ องค์สำเร็จแล้ว พระเจ้าอโศกทรงมีพระราชประสงค์จะนำพระบรมสารีริกธาตุของสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปบรรจุในในพระสถูปต่างๆ และบรรจุในพระมหาสถูปองค์ใหญ่ที่สร้างขึ้นใหม่มีความสูงประมาณครึ่งโยชน์ และประดับประดาด้วยแก้วต่างๆ ประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาให้ปาฎลีบุตร อีกทั้งต้องการให้มีการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่เป็นเวลา ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน
.         แต่ด้วยเกรงว่าพญามารจะมาทำลายพิธีฉลอง มีเพียงพระอุปคุตต์ที่ไปจำศีลอยู่ในสะดือทะเลเพียงท่านเดียวเท่านั้น ที่จะสามารถปราบพญามารได้ เมื่อพระอุปคุตต์ปราบพญามารจนสำนึกตัวหันมายึดเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง แล้ว พระอุปคุตต์จึงลงไปจำศีลอยู่ในสะดือทะเลตามเดิม
.         พระอุปคุตต์นี้ไทยเรียกว่า พระบัวเข็ม ชาวไทยเหนือหรือชาวอีสานและชาวพม่านับถือพระอุปคุตต์มาก ชาวพม่าไม่ว่าจะมีงานอะไรเป็นต้องนิมนต์มาเช้าพิธีด้วยเสมอ ไทยเราใช้บูชาในพิธีขอฝนหรือพิธีมงคล ฯลฯ

การลอยกระทง

.             การลอยกระทง เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าปฏิบัติกันมาแต่เมื่อไร เพียงแต่ท้องถิ่นแต่ละแห่งจะมีจุดประสงค์และความเชื่อในการลอยกระทงแตกต่าง กันไป ส่วนใหญ่มักจะทำกันในคืนวันเพ็ญ เดือน ๑๒ หรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ อันเป็นวันพระจันทร์เต็มดวง และเป็นช่วงที่น้ำหลากเต็มตลิ่ง โดยจะมีการนำดอกไม้ ธูป เทียน หรือสิ่งของใส่ลงในสิ่งประดิษฐ์รูปต่างๆที่ไม่จมน้ำ เช่น กระทง เรือ แพ ดอกบัวฯลฯ แล้วนำไปลอยตามลำน้ำ ตามความเชื่อของแต่ละแห่ง
.             ประเพณีลอยกระทงไม่ได้มีแต่ในไทยเท่านั้น ที่จีน อินเดีย เขมร ลาวและพม่าก็มีการลอยกระทงคล้ายๆกับบ้านเรา จะต่างกันก็ตรงที่รายละเอียด พิธีกรรมและความเชื่อในแต่ท้องถิ่น
.             พระยาอนุมานราชธน ได้สันนิษฐานว่า ต้นเหตุแห่งการลอยกระทงอาจมีมูลฐานเป็นไปได้ว่า การลอยกระทงเป็นคติของชนชาติที่ประกอบกสิกรรม ซึ่งต้องอาศัยน้ำเป็นสำคัญ เมื่อพืชพันธุ์ธัญชาติงอกงามดีและเป็นเวลาที่น้ำเจิ่งนองพอดี ก็ทำกระทงลอยไปตามกระแสน้ำไหลเพื่อขอบคุณแม่คงคาหรือเทพเจ้าที่ประทานน้ำมา ให้ความอุดมสมบูรณ์ และเมื่อเสร็จแล้วจึงเล่นรื่นเริงด้วยความยินดี เท่ากับเป็นการสมโภชการงานที่ได้กระทำว่าได้ลุล่วงและรอดมาจนเห็นผลแล้ว
.             ต่อมา เมื่อมีความเจริญแล้ว การวิตกทุกข์ร้อนเรื่องเพาะปลูกว่าจะไม่ได้ผลก็น้อยลงไป แต่ก็ยังมีการบวงสรวงตามที่เคยทำมาจนเป็นประเพณี เพียงแต่ปรับให้เข้ากับความเชื่อของทางศาสนาที่ตนนับถือ เช่น มีการทำบุญเพิ่มขึ้นในทางพุทธศาสนา แต่ที่สุดก็เหลือแต่การเล่นสนุกสนานรื่นเริงเป็นส่วนใหญ่
.             เหตุที่ทำกระทงเป็นรูปดอกบัวนั้น ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือตำนานนางนพมาศ พระสนมเอกของพระมหาธรรมราชาลิไทย หรือพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย ได้กล่าวถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองว่า เป็นเวลาเสด็จประพาสลำน้ำตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน และได้มีรับสั่งให้บรรดาพระสนมนางในทั้งหลายตกแต่งกระทงประดับดอกไม้ธูป เทียนนำไปลอยน้ำหน้าพระที่นั่ง ในคราวนั้นท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือนางนพมาศ พระสนมเอก (แต่การศึกษาประวัติศาสตร์ปัจจุบันหลายชิ้นระบุว่า นางนพมาศไม่มีจริง) ก็ได้คิดประดิษฐ์กระทงเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น
.             เนื่องจากเห็นว่าเป็นดอกบัวพิเศษที่ บานเวลากลางคืนเพียงปีละครั้งในวันดังกล่าว สมควรทำเป็นกระทงแต่งประทีป ลอยไปถวายสักการะรอยพระพุทธบาท เมื่อพระร่วงทรงรับทราบถึงความหมายดังกล่าวจึงมีพระราชดำรัสว่า “แต่นี้สืบไปเบื้องหน้าโดยลำดับ กษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน ๑๒ ให้นำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน”
ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นโคมลอยรูปดอกบัวปรากฏมาจนปัจจุบัน
.             ตำนานการลอยกระทงตามความเชื่อของพุทธศาสนากล่าวไว้ว่า ก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้นั้น ได้ประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา กาลวันหนึ่ง นางสุชาดาอุบาสิกาได้ให้สาวใช้นำข้าวมธุปายาส (ข้าวกวนหรือหุงด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำอ้อย) ใส่ถาดทองไปถวาย
เมื่อพระองค์เสวยหมดแล้ว ก็ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าหากวันใดจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ก็ขอให้ถาดลอยทวนน้ำ ด้วยแรงสัตยาธิษฐานและบุญญาภินิหาร ถาดก็ลอยทวนน้ำไปจนถึงสะดือทะเล แล้วก็จมไปถูกขนดหางพระยานาคผู้รักษาบาดาล พระยานาคตื่นขึ้น พอเห็นว่าเป็นอะไรก็ประกาศก้องว่า “บัดนี้ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติ ขึ้นในโลกอีกองค์แล้ว” ครั้นแล้วเทพยดาทั้งหลายและพระยานาคก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระยานาคก็ได้ขอให้พระพุทธองค์ประทับรอยพระบาทไว้บนฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อพวกเขาจะได้ขึ้นมาถวายสักการะได้ พระองค์ก็ทรงทำตาม ส่วนสาวใช้ก็นำความไปบอกนางสุชาดา ครั้นถึงวันนั้นของทุกปีนางสุชาดาก็จะนำเครื่องหอมและดอกไม้ใส่ถาดไปลอยน้ำ เพื่อไปนมัสการรอยพระพุทธบาทเป็นประจำเสมอมา และต่อๆมาก็ได้กลายเป็นประเพณีลอยกระทงตามที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
.             กล่าวได้ว่าประเพณีการลอยกระทงถือเป็น คติธรรมอย่างหนึ่ง ที่บอกนัยให้พุทธศาสนิกชินได้เจริญรอยตามพระบาทของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามทั้งปวงนั่นเอง

ประเพณีการบูชาลอยกระทง จากพระไตรปิฎก

.             ประเพณีลอยกระทง เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติมาแต่โบราณโดยมีตำนานการสืบทอดตามความเชื่อถือมากมายหลายประการ
นอกจากประเทศไทยแล้ว การลอยกระทงที่คล้ายๆ กับของไทยยังมีในประเทศจีน อินเดีย เขมร และ พม่า จะต่างกันก็เพียงพิธีกรรมและความเชื่อในแต่ละแห่งซึ่งแม้แต่ในประเทศไทยเราเองก็มีวัตถุประสงค์ความเชื่อ ความศรัทธาในเรื่องนี้อย่างหลากหลาย เช่น
เชื่อว่าลอยกระทงเพื่อ
- บูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า
- บูชารอยพระพุทธบาท ณ หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที
ซึ่งปัจจุบันคือแม่น้ำเนรพุททา ในอินเดีย
- บูชาพระอุปคุตเถระ ที่บำเพ็ญบริกรรมคาถาในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล
ซึ่งตำนานเล่าว่าเป็นพระเถระที่มีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถปราบพญามารได้
- ต้อนรับพระพุทธเจ้าในวันเสด็จกลับจากเทวโลกเมื่อครั้งไปโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
- แสดงความขอบคุณพระแม่คงคาซึ่งเป็นแหล่งน้ำให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์ต่างๆ
- ขอขมาต่อพระแม่คงคาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไป
- ระลึกถึงและส่งของไปให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับ
.             จากความเชื่อหลากหลายนั้น ถ้าจะเชื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตัวเอง ก็ขอให้ตั้งจิตลอยกระทงบูชาพระพุทธองค์ จึงจะเป็นเหตุแห่งบุญกุศลที่ดีที่สุด ซึ่งในวันลอยกระทงทุกๆปีก็ตรงกับวันพระ จึงควรถือโอกาส รักษาศีล สวดมนต์เจริญสมาธิวิปัสสนา เป็นปฏิบัติบูชาไปด้วย
[๔๐๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย การบูชา ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน
คือ อามิสบูชา ๑ ธรรมบูชา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การบูชา ๒ อย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาการบูชา ๒ อย่างนี้ ธรรมบูชาเป็นเลิศ ฯ
(อามิสบูชา บูชาด้วยสิ่งของ | ธรรมบูชา บูชาด้วยการปฏิบัติ)
คำบูชากล่าวก่อนลอยกระทง
อะหัง อิมินา ปะทีเปนะ อะสุกายะ นัมมะทายะ นะทิยา ปุลิเน ฐิตัง มุนิโน ปาทะวะลัญชัง อะภิปูชะยามิอะยัง ปะทีเปนะ มุนิโน ปาทะวะลัญชัง ปูชา มัยหัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ
(จะกล่าวเฉพาะคำแปลก็ได้)
ไม่ต้องตรงทุกคำก็ได้ ขอเพียงในใจจริงเข้าใจเจตนาว่าทำอะไรเพื่ออะไร
.             ข้าพเจ้าขอน้อมบูชา รอยพระพุทธบาท ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ หาดทรายริมแม่น้ำนัมมทา โน้น ด้วยประทีปนี้ขอให้การบูชารอยพระพุทธบาทนี้ จงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้า ตลอดกาลนานเทอญ..
๙. ปทีปวิมาน
ว่าด้วยผลบุญที่ทำให้ไปเกิดในปทีปวิมาน
[๙] พระมหาโมคคัลลานะถามว่า
ดูกรนางเทพธิดา ท่านมีรูปงาม มีรัศมีรุ่งเรือง ส่องสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ
เหมือนกับดวงดาวประกายพฤกษ์ ฉะนั้น ท่านมีผิวพรรณเช่นนี้เพราะบุญ
อะไร อิฐผลย่อมสำเร็จแก่ท่านในวิมานนี้เพราะบุญอะไร อนึ่ง โภคะ
อันเป็นที่รักแห่งใจทุกสิ่งทุกอย่าง ย่อมเกิดขึ้นแก่ท่านเพราะบุญอะไร
ดูกรนางเทพธิดา ท่านมีรัศมีสุกใสไพโรจน์ ล่วงเทวดาทั้งหลายเพราะ
บุญอะไร ท่านมีอวัยวะทุกส่วน***ส่องสว่างไปทั่วทุกทิศเพราะบุญอะไร
ดูกรนางเทพธิดาผู้มีอานุภาพอันยิ่งใหญ่ อาตมาขอถามท่าน ครั้งท่านยัง
เป็นมนุษย์อยู่ได้ทำบุญอะไรไว้ ท่านมีอานุภาพรุ่งเรืองถึงเช่นนี้ และรัศมี
กายของท่านสว่างไสวไปทั่วทุกทิศเพราะบุญอะไร?
นางเทพธิดานั้น อันพระโมคคัลลานะซักถามแล้ว มีใจยินดีได้พยากรณ์
ปัญหาแห่งผลกรรมที่ถูกซักถามว่า
ในชาติก่อน ครั้งเมื่อดิฉันยังเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์ในมนุษยโลก
เมื่อถึงเดือนมืดมาก ได้เวลาตามประทีป ดิฉันได้ถวายดวงประทีปอันเป็น
อุปกรณ์กำจัดความมืดให้เป็นทาน อันว่าผู้ใด ถึงเวลาเดือนมืดมาก
ได้เวลาตามประทีป ได้ถวายประทีปอันเป็นอุปกรณ์กำจัดความมืดให้
เป็นทาน วิมานอันมีแสงสว่างเป็นผล ประดับด้วยดอกไม้จันทน์ และ
บัวขาวอย่างมากมาย ย่อมเกิดแก่ผู้นั้น ดิฉันมีผิวพรรณถึงเช่นนี้ เพราะ
การให้ประทีปเป็นทานนั้น อิฐผลสำเร็จแก่ดิฉันในวิมานนี้ เพราะการ
ให้ประทีปเป็นทานนั้น อนึ่ง โภคทรัพย์ทั้งหลายอันเป็นที่รักแห่งใจทุกสิ่ง
ทุกอย่าง เกิดแก่ดิฉันเพราะการให้ประทีปเป็นทานนั้น เพราะการให้
ประทีปเป็นทานนั้น ดิฉันจึงมีรัศมีสุกใสไพโรจน์ล่วงเทวดาทั้งหลาย
มีสรีระร่างทุกๆ ส่วนสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพ
อันใหญ่ยิ่ง ดิฉันขอบอกแก่ท่าน ครั้งดิฉันยังเป็นมนุษย์ได้ให้
ดวงประทีปใดเป็นทานไว้ ด้วยการให้ประทีปนั้นเป็นทาน ดิฉันจึงมี
อานุภาพรุ่งโรจน์ถึงเช่นนี้ และรัศมีการของดิฉันจึงสว่างไสวไปทั่ว
ทุกทิศ.
จบ ปทีปวิมานที่ ๙
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ บรรทัดที่ ๒๑๘ – ๒๔๗. หน้าที่ ๙ – ๑๐.
สูจิวิมานที่ ๑
ว่าด้วยผลบุญที่ทำให้ไปเกิดในสูจิวิมานที่ ๑
พระมหาโมคคัลลานเถระได้ถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า
[๕๘] วิมานของท่านนี้สูงมาก ทั้งยาวและกว้าง ๑๒ โยชน์ มียอด
๗๐๐ ยอด มีเสาล้วนแล้วด้วยแก้วมณี ฯลฯ และมีรัศมีสว่าง
ไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้ เพราะบุญกรรมอะไร?
เทพบุตรนั้น อันพระมหาโมคคัลลานเถระถามแล้ว มีความปลาบ
ปลื้มใจ จึงพยากรณ์ปัญหาแห่งผลกรรมที่ถูกถามนั้นว่า บุคคลให้
สิ่งใด ผลสิ่งนั้นย่อมไม่มี แต่ย่อมมีผลดีกว่าสิ่งที่ตนให้ ข้าพเจ้า
ได้ถวายเข็ม ๒ เล่ม การถวายเข็มนั้นแล เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าได้
สมบัติอันประเสริฐ ข้าพเจ้ามีวรรณะงามเช่นนี้ เพราะบุญกรรมนั้น
ฯลฯ และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้ เพราะบุญกรรมนั้น.
จบ สูจิวิมานที่ ๘.
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ บรรทัดที่ ๒๐๕๙ – ๒๐๗๑. หน้าที่ ๘๔.
.             บุคคลให้สิ่งใด ผลสิ่งนั้นย่อมไม่มี แต่ย่อมมีผลดีกว่าสิ่งที่ตนให้ ได้เพียงถวายเข็มสองเล่ม ด้วยใจปลาบปลื้ม ยังมีอานิสงส์ถึงเพียงนี้ การลอยกระทงก็อย่าดูแคลนว่าได้ผลน้อยอานิสงส์น้อย หากตั้งจิตถูกตรงไปบูชาพระรัตนตรัยอันทรงคุณไม่มีประมาณ ย่อมได้อานิสงส์ไพศาลเกินจินตนาการคิดเอา
.             ตำนานความเชื่อของศาสนาพราหมณ์บอกว่า พิธีลอยประทีปแต่เดิมทำขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระนารายณ์และพระพรหม เป็นประเภทคู่กับลอยกระทง ก่อนจะลอยก็ต้องมีการตามประทีปก่อน ซึ่งตามคัมภีร์โบราณอินเดียเรียกว่า “ทีปาวลี”
โดยกำหนดทางโหราศาสตร์ว่า เมื่อพระอาทิตย์ถึงราศีพิจิก พระจันทร์อยู่ราศีพฤกษ์เมื่อใด เมื่อนั้นเป็นเวลาตามประทีป และเมื่อบูชาไว้ครบกำหนดวันแล้ว ก็เอาโคมไฟนั้นไปลอยน้ำเสีย ต่อมาชาวพุทธเห็นเป็นเรื่องดี จึงแปลงเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทและการับเสด็จพระพุทธเจ้าดังที่กล่าวข้าง ต้น โดยมักถือเอาเดือน ๑๒ หรือเดือนยี่เป็งเป็นเกณฑ์ (ยี่เป็งคือเดือนสอง ตามการนับทางล้านนา ที่นับเดือนทางจันทรคติ เร็วกว่าภาคกลาง ๒ เดือน)
.             ฝ่ายประเทศพม่าก็มีตำนานเหมือนกันว่า ครั้งหนึ่งสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงมีพระประสงค์จะสร้างเจดีย์ให้ครบ ๘๔,๐๐๐ องค์ แต่ถูกพระยามารคอยขัดขวางเสมอ พระองค์ จึงไปขอให้พระอรหันต์องค์หนึ่ง คือพระอุปคุตช่วยเหลือ พระอุปคุตจึงไปขอร้องพระยานาคเมืองบาดาลให้ช่วย พระยานาครับปากและปราบพระยามารจนสำเร็จ พระเจ้าอโศกมหาราชจึงสร้างเจดีย์ได้สำเร็จสมพระประสงค์ แต่นั้นมาเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒ คนทั้งหลายก็จะทำพิธีลอยกระทงเพื่อบูชาคุณพระยานาค
เรื่องนี้บางแห่งก็ว่า พระยานาคก็คือพระอุปคุตที่อยู่ที่สะดือทะเล และมีอิทธิฤทธิ์มาก จึงปราบมารได้ และพระอุปคุตนี้เป็นที่นับถือของชาวพม่าและชาวพายัพของไทยมาก
.            ประเพณีลอยกระทง นอกจากจะมีคุณค่าต่อการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อพระผู้มีพระคุณแล้ว ยังมีคุณค่าต่อครอบครัว ชุมชม สังคม และศาสนาด้วย เช่น ทำให้สมาชิกในครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน ทำให้ชุมชนได้ร่วมมือร่วมใจกันจัดงาน หรือในบางท้องที่ที่มีการทำบุญก็คือว่ามีส่วนช่วยสืบทอดพระศาสนา และในหลายๆแห่งก็ถือเป็นโอกาสดีในการรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในแม่น้ำลำคลองด้วย

ประเพณีลอยกระทง ไทยแต่ละภูมิภาค

.             ประเพณีลอยกระทงไทยแต่ละภูมิภาคต่างก็มีประเพณีปฏิบัติตามวิถีวัฒนธรรม และความเชื่อของท้องถิ่นนั้นกระทงที่นำมาลอยส่วน ใหญ่มักจะประดิดประดอยเป็นรูปดอกบัวบานอย่างสวยงามด้วยวัสดุซึ่งหาได้ในท้องถิ่น เมื่อถึงเวลาพลบค่ำบรรดาผู้คนต่างนำกระทงที่เตรียมไว้มาปักดอกไม้ จุดธูป เทียน แล้วปล่อยให้ล่องลอยไปตามกระแสน้ำ บางคนก็ตัดผม และเล็บใส่ลงไปด้วยเพื่อให้เคราะห์ต่างๆลอยไปพร้อมกับกระทง บางคนก็ใส่เงินลงไปในกระทงเพื่อเป็นการให้ ทานบางคนโดยเฉพาะหนุ่มๆ สาวๆก็อธิษฐานขอพรให้สมหวังในความรัก หลังจากลอยกระทงเสร็จแล้วก็ชักชวน กันดูการละเล่นรื่นเริงบนฝั่ง เช่น การจุดพลุ ดอกไม้ดอกไม้ไฟ และมหรสพต่างๆ
.             ประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีหนึ่ง ที่เปิดโอกาสให้บุคคลจากภายนอกสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ได้โดยไม่กระทบกระเทือน ถึงแก่นสำคัญของประเพณี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จึงเข้ามาส่งเสริมให้เป็นกิจกรรมสำคัญทางการท่องเที่ยวในระดับนานาชาติ โดยมีจุดยืนในการคงความสมดุลย์ระหว่างการรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมและการเผยแพร่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นแนวหลักเพื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวต่างถิ่นได้มีโอกาสเรียนรู้วัฒนธรรมอันดีงามของแต่ละท้องถิ่นเพียงพอในการเข้าใจวิถีชีวิตของชุมชนนั้นได้มากขึ้น

ประเพณีลอยกระทง ในที่ต่างๆ

๑. ประเพณีเทศกาลยี่เป็ง จังหวัดเชียงใหม่
.             เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวล้านนาไทย และมีการตกแต่งโคมประทีปตามวัดและบ้าน การลอยกระทง ล่องสะเปา และ ปล่อยโคมทั้งโคมไฟและโคมควัน ขึ้นฟ้า เพื่อบูชาพระธาตุจุฬามณีบนสวรรค์ และการเล่นมหรสพรื่นเริงต่างๆ
๒. ประเพณีลอยกระทงสาย จังหวัดตาก
.             เป็นประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิมของจังหวัดตาก ใช้กะลามะพร้าวมาทำกระทงแล้วจุดไฟปล่อยให้ลอยเป็นสาย นับร้อยนับพัน ไหลไปตามร่องน้ำในลำน้ำปิง ส่องแสงเป็นประกายระยิบระยับสวยงาม ขบวนกระทงสาย มีกระทงผ้าป่าน้ำ นำขบวน ในแพผ้าป่าน้ำมีการใส่ หมาก พลู บุหรี่ ผลไม้ และ เศษสตางค์ เพื่อเป็นทานสำหรับคนยากจนที่เก็บได
๓. ลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย
.             จังหวัดสุโขทัยริเริ่มจัดเป็นครั้งแรกในปี ๒๕๒๐ เพื่อเป็นกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ปัจจุบันนี้งานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ เป็นงานเทศกาลที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก กิจกรรมในงานประกอบด้วยพิธีบวงสรวงพระแม่ย่า และพิธีสักการะพ่อขุนรามคำแหง การแสดงศิลปวัฒนธรรมและดนตรีไทย การประกวดโคมชัก โคมแขวน กระทงเล็ก กระทงใหญ่ การเล่นพลุ ตะไล ไฟพะเนียง งานข้าวขวัญวันเล่นไฟ มีการแสดงแสงเสียง เป็นต้น
๔. ประเพณีลอยกระทงกรุงเทพมหานคร
.             จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณคลองคูเมืองเดิม หรือ คลองหลอด เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
เป็นประเพณีที่ทำสืบเนื่องกันมาแต่ครั้งโบราณกาลสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในเขตภาคกลางที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ประเพณีลอยกระทงยังเป็น เป็นหนึ่งในพระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งพระมหากษัตริย์จะต้องถือปฏิบัติเรียกว่า “พระราชพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคมส่งน้ำ” ต่อมาเรียก “ลอยประทีป”
๕. ประเพณีลอยกระทงตามประทีป ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
.             จัดเป็นประจำทุกปีเพื่อย้อนบรรยากาศไปสู่ยุคสมัยกรุงศรีอยุธยายังรุ่งเรือง เป็นประเพณีที่ทำสืบเนื่องกันมาแต่ครั้งโบราณกาลสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในเขตภาคกลางที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ กิจกรรมในงานประกอบด้วย การประกวดอาหารไทย การจำหน่ายสินค้าศิลปาชีพ สินค้าอุปโภค บริโภค และตลาดน้ำจำลอง การจุดพลุ และโคมลอย
ภาคอีสาน จะตบแต่งเรือแล้วประดับไฟ เป็นรูปต่างๆ เรียกว่า “ไหลเรือไฟ
.             การลอยกระทงในภาคอีสาน เรียกว่าเทศกาลไหลเรือไฟจัดเป็นประเพณียิ่งใหญ่ในจังหวัดนครพนม โดยการนำหยวกกล้วยหรือวัสดุต่างๆ มาตกแต่งเป็นรูปพญานาคและรูปอื่นๆ ตอนกลางคืนจุดไฟปล่อยให้ไหลไปตามลำน้ำโขงดูสวยงามตระการตา นอกจากนี้ยังมีประเพณีลอยกระทงในประเทศต่างๆ เช่นที่เขมร จีน อินเดีย โดยมีคติความเชื่อและประวัติความเป็นมาตรงกันบ้างแตกต่างกันไปบ้าง

ประวัตินางนพมาศ

นางนพมาศ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สนมเอกของสมเด็จพระร่วงเจ้า

มีลอยกระทง มีนางนพมาศ มาดูประวัตินางนพมาศกันเถอะ
.             นางนพมาศ เป็นธิดาของพระศรีมโหสถกับนางเรวดี บิดาเป็นพราหมณ์ปุโรหิตในสมัยพระยาเลอไท นางนพมาศได้ถวายตัวเข้ารับราชการในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ในยุคสุโขทัย เป็นที่โปรดปรานจนได้เป็นสนมเอกตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์
นางนพมาศ ได้เขียนตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ขึ้นเพื่อเป็นหลักประพฤติปฏิบัติตนในการเข้ารับราชการของนางสนมกำนัลทั้งหลาย
เรื่องนี้แต่งด้วยร้อยแก้วมีกลอนดอกสร้อยแทรก ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นใหม่ในมัยรัตนโกสินทร์ เพราะภาษาที่ใช้แตกต่างจากภาษาที่ใช้ในวรรณคดีที่แต่งในยุคเดียวกันคือ คือศิลาจารึกหลักที่ ๑ และ ไตรภูมิพระร่วง
เนื้อเรื่องในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ กล่าวถึงประเพณีต่างๆ ของไทย เช่น การประดิษฐ์ พานหมากสองชั้นรับแขกเมือง การประดิษฐ์โคมลอยรูปดอกกระมุท (ดอกบัว) เพื่อใช้ในพระราชพิธีจองเปรียงลอยพระประทีป (ลอยกระทง) ซึ่งประเพณีนี้ได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เรียกอีกชื่อว่า หนังสือ นางนพมาศ
และนางนพมาศได้ทำคุณงามความดีเป็นที่โปรดปรานของพระร่วง มีอยู่ ๓ ครั้ง ดังนี้
.             ครั้งแรก เข้าไปถวายตัวอยู่ในวังได้ห้าวัน ก็ถึงพระราชพิธีจองเปรียงลอยพระประทีป (ลอยกระทง) นางได้คิดประดิษฐ์โคมลอยรูปดอกกระมุท (ดอกบัว) มีนกเกาะดอกไม้สีสวยๆ ต่างๆ กัน เป็นที่โปรดปรานของพระร่วงมาก
.             ครั้งที่สอง ในเดือนห้ามีพิธีคเชนทร์ศวสนาน เป็นพิธีชุมนุมข้าราชการทุกหัวเมือง มีเจ้าประเทศราชขึ้นเฝ้าถวายเครื่องราชบรรณาการด้วย ในพิธีนี้พระเจ้าแผ่นดินทรงรับแขกด้วยเครื่องหมากพลู  นางนพมาศได้คิดประดิษฐ์พานหมากสองชั้นร้อยกรองด้วยดอกไม้งดงาม พระร่วงทรงโปรดปรานและรับสั่งว่า ต่อไปผู้ใดจะทำการมงคลก็ดี รับแขกก็ดี  ให้ใช้พานหมากรูปดังนางนพมาศประดิษฐ์ขึ้น ซี่งเป็นต้นเหตุของพานขันหมากเวลาแต่งงาน ซึ่งยังคงใช้จนถึงปัจจุบัน
.             ครั้งที่สาม นางได้ประดิษฐ์พนมดอกไม้ถวายพระร่วงเจ้าเพื่อใช้บูชาพระรัตนตรัย พระร่วงทรงพอพระทัยในความคิดนั้น ตรัสว่าแต่นี้ต่อไปเวลามีพิธีเข้าพรรษาจะต้องบูชาด้วยพนมดอกไม้กอบัวนี้
นางนพมาศเป็นบุคคลที่ได้สมญาว่า “กวีหญิงคนแรกของไทย” ดังเช่นที่เขียนไว้ว่า
“ทั้งเป็นสตรี สติปัญญาก็น้อยกว่าบุรุษ แล้วก็ยังอ่อนหย่อนอายุ กำลังจะรักรูปและแต่งกาย ซึ่งอุตสาหะพากเพียร กล่าวเป็นทำเนียบไว้ ทั้งนี้เพื่อหวังจะให้สตรีอันมีประเภทเสมอด้วยตน พึงให้ทราบว่าข้าน้อยนพมาศ กระทำราชกิจในสมเด็จพระร่วยงเจ้ากรุงมหานครสุโขทัย ตั้งจิตคิดสิ่งซึ่งเป็นการควรกับเหตุถูกต้องพระราชอัชฌาสัยพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ปรากฎชื่อแสียงว่าเป็นสตรีนักปราชญ์ ฉลาดในวิชาช่างอยู่ชั่วกัลปาวสาน ”
บทปฏิบัติของนางนพมาศ
“พึงให้ทราบว่า ข้าน้อยนพมาศ พึงกระทำกิจในสมเด็จพระร่วงเจ้ากรุงพระมหานครสุโขทัย ตั้งจิตคิดสิ่งซึ่งเป็นที่ควรกับเหตุ ถูกต้องพระราชอัชฌาสัยพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ปรากฏชื่อเสียงว่า เป็นสตรีนักปราชญ์ฉลาดในวิชาช่างอยู่ชั่วกัลปาวสาน”
การประดิษฐ์โคมในพระราชพิธีจองเปรียง
“ข้าพระองค์สำคัญใจคิดเห็นว่าเป็นนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือนสิบสอง พระจันทร์แจ่มแสงปราศจากเมฆมลทิน อันว่าดวงดอกชาติโกสุมประทุมมาลย์มีแต่จะแบ่งบานกลีบรับแสงอาทิตย์ ถ้าชาติอุบลเหล่าใดบานผกาเกสรรับแสงจันทร์แล้วก็ได้ชื่อว่า ดอกกระมุท ข้าพระองค์จึงทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท ซึ่งบังเกิดมีอยู่ยังนัมมทานที อันเป็นที่พระบวรพุทธบาทประดิษฐาน”

เพลงที่เกี่ยวข้องวันลอยกระทง

เพลง รำวงวันลอยกระทง

วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง
เราทั้งหลายชายหญิงสนุกกันจริง วันลอยกระทง
ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง
ลอยกระทงกันแล้ว ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง
รำวงวันลอยกระทง รำวงวันลอยกระทง
บุญจะส่งให้เราสุขใจ บุญจะส่งให้เราสุขใจ
วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง
เราทั้งหลายชายหญิงสนุกกันจริง วันลอยกระทง
ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง
ลอยกระทงกันแล้ว ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง
รำวงวันลอยกระทง รำวงวันลอยกระทง
บุญจะส่งให้เราสุขใจ บุญจะส่งให้เราสุขใจ

เพลง November,Full-Moon-shine

November full moon shine
Loy Krathong
Loy Krathong
And the water high
In the gold river and the Klong
Loy Loy Krathong
Loy Loy Krathong
Loy Krathong is here
And everybody full of cheer
We’re together at the Klong
Each one with his Krathong
As we push away we pray,
We can see a better day

ประโยชน์ คุณค่า และ ความสำคัญลอยกระทง

.             ลอยกระทงเป็นประเพณีที่สำคัญอย่างหนึ่งของไทย ซึ่งมีการปฏิบัติตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น เช่น เพื่อให้ความเคารพ และขอบคุณน้ำที่อำนวยประโยชน์ต่าง ๆ ต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ รวมทั้งเป็นการขอขมาน้ำที่มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์หรือ ทำความเสียหายแก่น้ำ เช่น ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงน้ำ หรือลอยเพื่อสะเดาะเคราะห์ ซึ่งประเพณีลอยกระทงก่อให้เกิดคุณค่าและความ สำคัญ ดังนี้
๑. คุณค่าต่อครอบครัว ทำให้สมาชิกในครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การประดิษฐ์กระทงไปลอยเพื่อแสดงความสำนึกในบุญคุณของน้ำที่ให้คุณประโยชน์ แก่เรา
๒. คุณค่าต่อชุมชน ทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน
๓. คุณค่าต่อสังคม ทำให้มีความเอื้ออาทรต่อกันและกันและเอื้ออาทรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการ ช่วยกันรักษาความสะอาดแม่น้ำ ลำคลองและแหล่งน้ำต่าง ๆ
๔. คุณค่าต่อศาสนา เป็นการช่วยกันรักษาและทำนุบำรุงศาสนา และสืบทอดประเพณีอันดีงามของไทยแต่โบราณ

กิจกรรมที่ควรอนุรักษ์ฟื้นฟูและส่งเสริม ในการลอยกระทง

ประเพณีลอยกระทง มีกิจกรรมที่ควรอนุรักษ์ฟื้นฟูและส่งเสริมให้มีการถือปฏิบัติและสืบทอดต่อไป ได้แก่
๑. การทำความสะอาดแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั้งก่อนและหลังงานลอยกระทง เช่น ขุดลอกคูคลอง เก็บขยะหรือสิ่งปฏิกูลในแหล่งน้ำ จากนั้นก็นำกระทงไปลอยในแม่น้ำลำคลอง และทำพิธีระลึกบูชาคุณค่า ของน้ำ โดยการตั้งคำปฏิญาณที่จะรักษาแหล่งน้ำต่อไป
๒. การทำบุญให้ทาน ฟังเทศน์และถือศีลปฏิบัติธรรม ตามประเพณีของแต่ละท้องถิ่น
๓. การรณรงค์ประดิษฐ์กระทงโดยใช้วัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่าย หรือเป็นวัสดุที่ใช้เป็นอาหารสำหรับ สัตว์น้ำ เช่น ปลา ได้
๔. การจัดขบวนแห่กระทง และการจัดกิจกรรมประกวดกระทง โคมลอย ไม่ควรให้ความสำคัญกับการประกวด นางนพมาศ มากเกินไปนัก
๕. การจุดดอกไม้ไฟ ควรจุดอย่างระมัดระวัง ในเวลา และบริเวณที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการเท่านั้น
๖. การละเล่นรื่นเริงตามความเหมาะสมตามประเพณีท้องถิ่นนั้น ๆ
๗. การรณรงค์ไม่ปล่อยน้ำเสียหรือสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงในแหล่

กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันลอยกระทง

๑. นำกระทงไปลอยตามแม่น้ำลำคลอง หรือตามแหล่งน้ำที่มีการจัดพิธี
๒. ให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในวันลอยกระทง เช่น การประกวดกระทง ประกวดนางนพมาศ การละเล่นพื้นเมือง เช่น รำวง เพลงเรือ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมไทย
๓. จัดนิทรรศการ หรือพิธีการลอยกระทง เพื่อเผยแพร่และอนุรักษ์ประเพณีไทย
๔. จัดรณรงค์ให้มีการใช้วัสดุจากธรรมชาติมาทำกระทง เพื่อไม่ให้เกิดมลภาวะแก่แม่น้ำลำคลอง

๕ สิ่งที่ไม่ควรพลาด ในวันลอยกระทง

๑. ไปกับสาวๆ หนุ่มๆ
.             จะขาดหวานใจไปได้ยังไง กับเทศกาลโรแมนติกเช่นนี้ ชวนได้ทั้ง หนุ่มๆ แฟนสาวๆ ขอให้ไม่เกลียดหน้ากันก็พอ หรือจะไปเป็นหมู่คณะเพื่อนๆ ก็ไม่ว่ากัน จะได้ครื้นเครงหรรษามากขึ้น แต่แนะนำว่าไปกันสองคนน่ะเวิร์คสุด ริมน้ำใต้แสงจันทร์ นี่มันวันแห่งความหวานชัดๆ
๒. บริเวณปล่อยกระทง
.            ใครที่คิดจะลอยที่คลองเน่าๆ แถวบ้าน หรือแม่น้ำที่ลับตาไร้ผู้คน อันนี้เห็นจะปลีกวิเวกและไม่สนุกไปหน่อย เทศกาลเจ๋งๆ แบบนี้มันต้องมีบรรยากาศที่คึกคักกันสิ จะได้มีความรู้สึกร่วมไปด้วย โดยพี่มิ้งค์ขอแนะนำคร่าวๆ เช่นที่
สวนสันติชัยปราการ ตรงถนนพระอาทิตย์, สระในจุฬาฯ เป็นต้น
๓. รักธรรมชาติ
.             อย่าลืมว่าจุดสำคัญของการลอยกระทง เพราะนอกจากจะสืบสานประเพณีอันดีงามแล้ว ตามความเชื่อที่เล่าขานต่อกันมา ถือว่าเป็นพิธีในการขอขมาพระแม่คงคาอีกด้วย เพราะเราอาจเผลอไปทำอะไรไม่ดีไว้กับแม่น้ำลำคลองต่างๆ  ดังนั้น กระทงโฟม อย่านำไปลอยโดยเด็ดขาด ขณะที่กระทงจากต้นกล้วยก็ใช้เวลาพอตัว กว่าจะย่อยสลายเองตามธรรมชาติ กระทงที่น่าจะย่อยสลายเร็วที่สุด คือ กระทงที่ทำมาจากขนมปัง จะเลือกอะไรก็ได้ ตามใจน้องๆ แต่อย่าทำลายเจตนาในการไม่ทำลายธรรมชาตินะครับ
๔.ซึมซับบรรยากาศ
.             ซื้อกระทง – ลอย – กลับบ้าน ไม่เอาๆ เทศกาลดีๆ หนึ่งปีมีครั้งเดียวอย่างนี้ จะมาทำส่งๆ เสร็จๆ แล้วเผ่นกลับบ้านกันได้อย่างไร มันต้องซึมซับบรรยากาศกันสักหน่อย หลังจากที่เราลอยกระทงน้อยของเราไปสู่แม่น้ำแล้ว อาจจะนั่งดูผู้คนสนุกสนานไปกับเทศกาลตรงหน้า อาจพกกล้องถ่ายรูปสำหรับไปถ่ายภาพบรรยากาศก็ได้ หรือมองกระทงโยกเอนไปตามจังหวะกระแสน้ำก็เพลินไปอีกแบบ
“ท่ามกลางความมืดมิดของสายน้ำ มีจุดไฟสีเหลืองสว่างอร่ามอยู่ทั่วบริเวณ เหมือนท้องฟ้าที่สุกสกาวไปด้วยหมู่ดาวนับพัน” เหตุการณ์นี้มีวันเดียวของปีเท่านั้นนะจ๊ะ น้องๆ ลองชิมรสชาติบรรยากาศกันดู
๕. ทำใจสบายๆ
.               ไหนๆ ก็มางานเทศกาลดีๆ ทั้งที อย่าทำให้เสียอารมณ์ ด้วยการอารมณ์เสียเลย ไปเจอกระทงราคาแพงผิดปกติ ก็อย่าขี้บ่น ถือว่านานๆ ที ทำใจสบายๆ หรือ เห็นเด็กมาไล่เก็บกระทง เก็บเศษสตางค์ในกระทง พี่มิ้งค์ว่าก็อย่าไปไล่จิกด่า สาปแช่งให้จมน้ำตาย ถือเสียว่าเราได้ลอยสิ่งที่ไม่ดีออกจากตัวไปแล้ว จะไปหวงมันอีกทำไม
วันลอยกระทง อย่าลืม ๕ ข้อนี้นะจ๊ะ
ขอขอบคุสิ่งที่ดีดีจาก  I love Thai traditions

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น