วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เทศน์มหาชาติ



ประวัติความสำคัญแห่งการเทศน์มหาชาติ

                  ความจริง ประวัติความสำคัญแห่งการเทศน์มหาชาตินี้มีความโดยย่อว่า การเทศน์มหาชาติ คือการแสดงเรื่องเวสสันดรชาดกอันเป็นพระพุทธวจนะ เป็นเรื่องที่พระพุทธองค์ทรงเล่า หรือเป็นเรื่องที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธองค์ทรงเล่าถึงอัตตประวัติหรือชีวประวัติที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีธรรมเพื่อความสำเร็จพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระชาติสุดท้ายที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีธรรมยิ่งด้วยทานบารมี
                 
คำว่า มหาชาติ แปลความว่า พระชาติที่ยิ่งใหญ่ หรือ พระชาติที่สำคัญ  อันหมายถึง
การที่พระพุทธองค์เมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติสุดท้ายเป็นพระเวสสันดรทรงบำเพ็ญพระบารมีธรรมที่ยิ่งใหญ่ด้วยทานบารมี หรือทรงบำเพ็ญพระบารมีธรรมที่สำคัญยิ่งด้วยทานบารมี และเป็นการเสวยพระชาติสุดท้ายที่ทรงสร้างสมอบรมบารมีธรรมเพื่อความสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับเป็นเวลาช้านานถึง ๔ อสงไชย ๑ แสนกัป  จนพระสมติงสบารมีธรรม ๓๐ ประการ คือ พระบารมี ๑๐ พระอุปบารมี ๑๐ และพระปรมัตถบารมี ๑๐ ครบบริบูรณ์ในพระชาติที่เป็นพระเวสสันดรนี้

                 
 เรื่องมหาชาติหรือเรื่องเวสสันดรชาดก ของเดิมแต่งไว้ในภาษาบาลี แต่งเป็นคาถาภาษาบาลีล้วนมีจำนวน ,๐๐๐ คาถา  แต่ก่อนคงนิยมเทศน์กันเฉพาะที่เป็นคาถาภาษาบาลีล้วน ๆ อย่างที่เรียกกันว่า เทศน์คาถาพัน และคงจะไม่เทศน์เป็นทำนอง ภายหลังมีพระอรรถกถาจารย์แต่งอรรถกถาภาษาบาลี อธิบายความเป็นคำร้อยแก้วเพิ่มเติมไว้ในตอนต้น และในตอนสุดท้ายของชาดกก็ได้แต่งคำอธิบายในเรื่องกลับชาติของเวสสันดรชาดกออกเป็นภาษาไทย และร้อยกรองให้ไพเราะตามหลักกวีนิพนธ์ จึงมีมหาชาติในพากย์ภาษาไทยเป็นสำนวนต่าง ๆ หลายสำนวน และแบ่งเป็นตอน ๆ เรียกกันว่ากัณฑ์ มีทั้งหมดรวม ๑๓ กัณฑ์  และกล่าวกันสืบมาว่า ผู้ใดฟังเทศน์มหาชาติจบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ในวันเดียวแล้วจะได้ผลานิสงส์มาก จึงเกิดมีการประชุมฟังเทศน์มหาชาติกันทุกปีเป็นธรรมเนียมสืบมา 
                 
 ประเพณีนิยมเทศน์คาถาพันนี้สันนิษฐานกันว่าเห็นจะมีมาตั้งแต่รัชสมัยของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ กรุงสุโขทัย ครั้นถึงรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อมีนักปราชญ์ราชบัณฑิตและผู้มีความรู้ในด้านพระพุทธศาสนามากขึ้น จึงมีรับสั่งให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งมหาชาติคำหลวงขึ้นเมื่อปีขาล พ.ศ.๒๐๒๕  วิธีแต่งนำเอาภาษาบาลีเดิมตั้งบาทหนึ่ง แล้วแปลเป็นคำร้อยกรองในภาษาไทยวรรคหนึ่งสลับกันไป  ตามความถนัดของกวีผู้แต่ง หรือตามกำหนดที่ได้ตกลงวางไว้เป็นแบบ คงจะเป็นการแต่งประกวดกันให้ไพเราะและให้ใกล้กับภาษาบาลีเดิมทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ซึ่งนับได้ว่าเป็นหนังสือที่แต่งดีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

                 
หนังสือมหาชาติคำหลวงที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดเกล้าให้แต่งขึ้นนั้น ไม่ได้แต่งสำหรับพระเทศน์ แต่งสำหรับใช้สวด และต่อมาได้โปรดเกล้าให้นิมนต์พระสงฆ์ผู้สามารถอ่านวรรณคดีได้ถูกต้องตามทำนองกวีนิยมสมัยนั้น เข้าไปอ่านวรรณคดีมหาชาติคำหลวงถวายในพระที่นั่งเป็นประจำ จนเกิดเป็นประเพณีนิยมสืบต่อ ๆ มาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ดังจะเห็นได้จากเวลามีงานนักขัตฤกษ์เช่นเข้าพรรษา ครั้งโบราณก่อนนั้นเป็นหน้าที่ของขุนทินบรรณาการและขุนธานกำนัน กับผู้ช่วยอีก ๒ คน นั่งบนเตียงในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้วสวดมหาชาติคำหลวงโดยทำนองอย่างเก่า ถวายพระมหากษัตริย์ในเวลาเสด็จมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศล แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ เป็นหน้าที่ของกรมการศาสนา ต้องจัดเจ้าหน้าที่ไปสวดมหาชาติคำหลวงเป็นทำนอง ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ในพระราชพิธีทรงถวายพุ่มเทียนพรรษา เป็นประจำทุกปีตลอดมา
                 
 ต้นฉบับหนังสือมหาชาติคำหลวงได้สูญหายไป ๖ กัณฑ์ เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งกัณฑ์ที่ขาด ๖ กัณฑ์ คือ กัณฑ์หิมพานต์ ทานกัณฑ์ จุลพน มัทรี สักกบรรพ และฉกษัตริย์ ขึ้นใหม่ เมื่อปีจอ พ.ศ.๒๓๕๘ หนังสือมหาชาติคำหลวงจึงมีฉบับบริบูรณ์มาจนทุกวันนี้
                  
นอกจากมหาชาติคำหลวง ยังมีกาพย์มหาชาติสันนิษฐานกันว่าแต่งขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม กรุงศรีอยุธยา กาพย์มหาชาติมีศัพท์บาลีน้อย มีภาษาไทยมาก เข้าใจว่าคงจะแต่งสำหรับพระเทศน์ให้สัปบุรุษทั้งหลายเข้าใจเรื่องง่ายขึ้นกว่ามหาชาติคำหลวง แต่เรื่องก็คงยาวเช่นเดิม คงจะเทศน์ไม่จบในวันเดียว จึงได้เกิดการแต่งมหาชาติกลอนเทศน์ในเวลาต่อมา

                 
หนังสือมหาชาติกลอนเทศน์หรือร่ายยาวมหาชาตินั้น วิธีแต่งนำเอาคำบาลีที่เป็นคาถาและอรรถกถามาลงไว้ แล้วแต่งความภาษาไทยเป็นแบบร่ายยาว ต่อเข้าเป็นตอน ๆ สำหรับพระเทศน์ เพื่อผู้ฟังจะได้ฟังทั้งภาษาบาลีและภาษาไทย และให้จบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ในวันเดียว เพื่อให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ผู้ฟัง ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้แต่งหนังสือมหาชาติกลอนเทศน์ขึ้นมากมายหลายสำนวน ผู้แต่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็มีหลายท่านด้วยกัน

                 
ประเพณีการเทศน์มหาชาตินี้ มีเฉพาะแต่ในประเทศไทยกับมอญเท่านั้น ในลังกาและพม่าหามีอย่างประเทศไทยไม่ และประเพณีการมีเทศน์มหาชาตินี้ นิยมจัดทำทั้งเป็นพระราชพิธีของหลวงและพิธีของราษฎรพุทธศาสนิกชนทั่วไป
                 
พิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเทศน์มหาชาติที่เป็นของหลวงนั้น ในสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนขึ้นไปไม่ปรากฏว่ามีพิธีอย่างไร แต่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าให้จัดในรัชกาลของพระองค์ขึ้น ครั้ง ครั้งแรกจัดเมื่อปีฉลู พ.ศ.๒๓๔๘ และครั้งที่ ๒ โปรดให้จัดเมื่อวันเสาร์ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ นพศก พ.ศ.๒๓๕๐ มีหลักฐานปรากฏว่าทรงเกณฑ์ให้เจ้านายต่าง ๆ ให้รับเป็นเจ้าของกัณฑ์เทศน์ด้วย

               
เครื่องไทยธรรมบูชากัณฑ์ครั้งนั้น ปรากฏในหนังสือพงศาวดารว่า ได้โปรดเกล้าให้ทำกระจาดใหญ่ถวายกัณฑ์มหาชาติ ๑๓ กระจาด ตั้งกระจาดหน้ากำแพงพระมหาปราสาทรายตลอดมาจนถึงโรงทองและหอนาฬิกาและทั้งลานชาลาด้วย การจัดมหาขาติครั้งนั้นได้จัดประกวดประชันกันมาก
                 
ในรัชกาลที่ ๒ เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎ (คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงผนวชเป็นสามเณร ได้ทรงเทศน์กัณฑ์มัทรีถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และต่อมาถึงเดือน ๑๒ ปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้ทรงจัดให้มีเทศน์มหาชาติขึ้นในวัง และได้ทูลอาราธนาเจ้าฟ้ามงกุฎขณะทรงผนวชเป็นสามเณรให้ทรงเทศน์กัณฑ์มัทรีถวาย  ครั้งนี้ทรงทำกระจาดกัณฑ์มัทรีอย่างใหญ่และครึกครื้นมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
                 
ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญกุศลเทศน์มหาชาติก็มีบ้าง แต่ไม่สู้จัดอย่างใหญ่โตนัก ถ้าปีใดมีพระราชวงศ์ทรงผนวชเป็นภิกษุและสามเณรมาก ก็ทรงจัดให้มีเทศน์มหาชาติ ถ้าปีใดไม่ใคร่มีพระราชวงศ์ทรงผนวช ก็ทรงเปลี่ยนเป็นจัดให้มีเทศนาปฐมสมโพธิ์แทน

                
ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ ได้โปรดเกล้าให้จัดเทศน์มหาชาติอย่างใหญ่โตอีกครั้งหนึ่งเหมือนเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะดำรงพระอิสสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์จัดถวายพระองค์ครั้งทรงผนวชเป็นสามเณร ในครั้งนี้เนื่องด้วยพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงผนวชเป็นสามเณร ทรงรับสั่งให้จัดเป็นรูปเรือสำเภาแทนกระจาดขึ้นที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรค์ลำหนึ่ง ปากเรือกว้าง๕ วา ยาว ๑ เส้น ภายในเรือบรรจุเครื่องไทยธรรมทั้งสิ้น คิดเป็นมูลค่าสมัยนั้นประมาณ ๓๐๐ ชั่ง คิดเป็นเงิน ๒๔,๐๐๐ บาท  ทรงโปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ซึ่งผนวชเป็นสามเณรเทศน์ถวายกัณฑ์สักกบรรณหรือสักกบรรพที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น
                 
ประเพณีพระราชวงศ์ทรงผนวชเป็นสามเณรแล้วได้ถวายเทศน์มหาชาตินี้ ปรากฏว่าพระเจ้าลูกยาเธอที่ทรงผนวชเป็นสามเณรในรัชกาลที่ ๔ ก็ดี หรือในรัชกาลที่ ๕ ก็ดี ได้ถวายเทศน์มหาชาติแทบทุกพระองค์

               
ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ครั้งทรงผนวชเป็นสามเณรเทศน์มหาชาติกัณฑ์สักกบรรพถวาย ทรงโปรดเกล้าให้จัดกระจาดอย่างใหญ่ ตั้งที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรย์อย่างครั้งรัชกาลที่ ๔ แม้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงหัดเทศน์มหาชาติกัณฑ์ทานกัณฑ์ แต่ยังมิได้ทันได้ถวายเทศนา เพราะเสด็จไปยุโรปเสียก่อนทรงผนวชเป็นสามเณร ต่อมาเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมาทรงผนวชเป็นสามเณร ทรงโปรดให้เทศน์มหาชาติกัณฑ์ฉกษัตริย์ถวายที่สวนดุสิต ทรงโปรดเกล้าให้จัดเป็นกระจาดใหญ่อีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นการพระราชพิธีพระราชกุศลเทศน์มหาชาติก็ได้เลิกไป
                 
ส่วนประเพณีเทศน์มหาชาติของราษฎรพุทธศาสนิกชนทั้งหลายทั่วไปนั้น เป็นที่นิยมกันทั่วไปว่า การมีเทศน์มหาชาตินี้เป็นทานมัยกุศลอันสำคัญอย่างยิ่ง จึงได้เป็นที่นิยมกันในเมืองไทยยิ่งนัก และมีทั่วทุกภาคของประเทศไทย ส่วนกำหนดการจัดให้มีเทศน์มหาชาตินั้น แต่ก่อนนิยมจัดกันตั้งแต่ออกพรรษาแล้วไปจนถึงสิ้นเดือน ๑๒ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้เลื่อนมามีในเดือนอ้าย ส่วนในปัจจุบันนี้ ประเพณีการจัดให้มีเทศน์มหาชาตินี้ นิยมจัดกันหลังออกพรรษาแล้วจนถึงเดือน ๔ หรือไม่ก็ตามสะดวก ไม่กำหนดไว้ตายตัว
                  วัดใดจะมีเทศน์มหาชาติ ก็นิยมพิมพ์ฎีกาแจกให้ชาวบ้านทั้งหลายได้ทราบ เมื่อใครมีศรัทธาก็รับเป็นเจ้าของกัณฑ์ตามแต่ตนจะเลือก ครั้นถึงวันกำหนด เจ้าของกัณฑ์เทศน์ก็นำเครื่องกัณฑ์และปัจจัยมาติดเทียนในกัณฑ์ของตน พร้อมด้วยธูปและเทียนเท่ากับจำนวนพระคาถาของกัณฑ์นั้น ๆ คือ


๑.   กัณฑ์   ทศพร          มี  ๑๙      พระคาถา   นำธูปและเทียนมาบูชาอย่างละ ๑๙     ดอก
    ความย่อ พระนางผุสดี  ได้ถวายแก่นจันทน์แดง อันเป็นเครื่องประทินผิวชั้นสูง แก่พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วตั้งจิตอธิฐานว่า เกิดชาติหน้าภพใหม่ขอให้ได้อุบัติเป็นเทพธิดาบนสวรรค์ชั้นฟ้า เมื่อบารมีแก่กล้าขอให้ได้เป็นพุทธมารดาสักครั้งหนึ่งเถิด พระวิปัสสีตรัสสาธุอนุโมทนาว่า “ความปรารถนาสำเร็จแน่” ต่อมาเมื่อบุญนำพาวาสนานำส่งได้อุบัติเป็นเป็นเทพธิดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และมีบุญวาสนาได้เป็นมเหสีของท้าวโกสินทร์สักรินเทวราช  เมื่อจะต้องนิราศจากสวรรค์ ต่อมาจะต้องนิราศจากสวรรค์ เพื่อลงมาสร้างสมบ่มบารมีใหม่ ในมนุษย์พิภพ  จึงทูลขอพรจากพระอินทร์ผู้ภัสดา 10 ประการ  ดังนี้
๑. ขอให้เกิดในปราสาทแห่งพระเจ้าสีวิราชผู้ทรงศักดิ์    
๒. ขอให้ดวงเนตรคมงามและดำสีดั่งฤคีลูกเนื้อทราย
๓. ขอให้คิ้วคมดูงามขำประดุจสร้อยคอ มยุรยูงงาม                      
๔. ขอให้ได้นาม "ผุสดี" ดังภพเดิม
๕. ขอให้พระโอรสทรงมีพระเกียรติยศที่สุดในสากล                   
๖. ยามทรงพระครรภ์ อย่าให้โย้โตนูนดูอากูลน่าเวทนา
๗. ขอให้ยุคลถันเปล่งปลั่งงดงามอย่าคล้อยลง                  
๘. ขอให้เส้นเกศาดำขลับสลับสลวยดุจปีกแมงค่อมทอง
๙. ขอให้ผิวเนื้อละเอียดเป็นนวลละอองดุจทองคำธรรมชาติ     
๑๐.ขอให้ได้ปลดปล่อยนักโทษที่ไม่เป็นโดยสันดาน 
                 เมื่อจบกัณฑ์นี้ปี่พาทย์บรรเลงเพลง สาธุการ ซึ่งเป็นที่เข้าใจว่าได้อัญเชิญเทพยดาสิ่งศักดิ์ทั้งปวง

อานิสงส์  ผู้ใดบูชากัณฑ์ทศพร  ผู้นั้นจะได้รับทรัพย์สมปรารถนา  ถ้าเป็นสตรี จะได้สามีเป็นที่ชอบเนื้อเจริญใจ  ถ้าเป็นชาย จะได้ภรรยาตามที่ประสงค์ต้องการ ถ้ามีบุตรหญิง หรือชาย จะเป็นคนว่านอนสอนง่าย มีรูปกายงดงาม


๒.  กัณฑ์   หิมพานต์     มี  ๑๓๔   พระคาถา   นำธูปและเทียนมาบูชาอย่างละ  ๑๓๔  ดอก
ความย่อ พระนางผุสดีจุติลงมาเป็นราชธิดาของพระเจ้ามัทราช  เมื่อเจริญชนม์ได้ 16 ชันษา  จึงได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้ากรุงสญชัยแห่งสีวิรัฐนคร  ต่อมาได้ประสูติพระโอรสนามว่า "เวสสันดร"  ในวันที่ประสูตินั้นได้มีนางช้างฉันททันต์ตกลูกเป็นช้างเผือกขาวบริสุทธิ์จึงได้นำมาไว้ในโรงช้างต้นคู่บารมี ให้นามว่า "ปัจจัยนาค"  เมื่อพระเวสสันดรเจริญชนม์ ๑๖ พรรษา  พระราชบิดาก็ยกราชสมบัติให้ครอบครองและทรงอภิเษกกับนางมัทรี  มีพระโอรสชื่อ  ชาลี  พระธิดาชื่อ กัณหา  ต่อมาพระจ้ากาลิงคะแห่งนครกลิงคราษฎร์  ได้ส่งพราหมณ์มาขอพระราชทานช้างปัจจัยนาคเพื่อนำไปเหยียบแผ่นดินให้เกิดมงคล ฟ้าฝนจักได้ตกต้องตามฤดูกาล  พระองค์จึงพระราชทานช้างปัจจัยนาคให้แก่พระเจ้ากาลิงคะ  ชาวกรุงสญชัยไม่พอใจที่พระราชทานช้างคู่บ้านคู่เมืองไป  จึงเนรเทศพระเวสสันดรออกนอกพระนคร
        ปี่พาทย์บรรเลงเพลง ตวงพระธาตุ

อานิสงส์  ผู้ใดบูชากัณฑ์หิมพานต์ ย่อมจะได้สิ่งปรารถนาทุกประการ ครั้นตายไปจะไปบังเกิดในสุคติ โลกสวรรค์ แล้วเมื่อครั้งลงมาเกิดบนโลกมนุษย์ จักเกิดในตระกูลที่สูงศักดิ์บริบูรณ์ด้วยทรัพย์ บริวารมากมาย จะได้คู่ครองที่ดี ที่เป็นคู่คิด คู่ควรมิใช่คู่ขา  อยู่จะมีคนรัก จากจะมีคนอาลัย  อยู่อิริยาบถใดก็จะมีแต่ความสุขกาย สบายใจ 


๓.  กัณฑ์   ทานกัณฑ์    มี  ๒๐๙   พระคาถา   นำธูปและเทียนมาบูชาอย่างละ  ๒๐๙  ดอก
ความย่อ พระเวสสันดรทรงมหาสัตตสดกทาน  คือ  การแจกทานครั้งยิ่งใหญ่ก่อนที่พระเวสสันดรพร้อมด้วยพระนางมัทรี  ชาลีและกัณหาออกจากพระนคร  จึงทูลขอพระราชทานโอกาสบำเพ็ญมหาสัตตสดกทาน  คือ  การให้ทานครั้งยิ่งใหญ่  อันได้แก่  ช้าง  ม้าอาชาไนย  ราชรถ  โคนม  ทาสหญิง  ทาสชาย  นางสนมกำนัล รวมทั้งสุราบาน  อย่างละ ๗๐๐   
เมื่อบำเพ็ญสัตตดกทาน พระเวสสันดรจึงตรัสชวนพระมัทรีศรีสมร อีกทั้งสองบังอรโอรสราช เสด็จยังปราสาทพระปิตุรงค์เพื่อทูลลา จากนั้นเสด็จขึ้นราชรถเทียมด้วยม้าเวียนรอบพระพาราเป็นการสั่งเมือง แล้วเสด็จอกจากพระทวารวัง จุดหมายปลายทางที่เขาคีรียวงกต
 ปี่พาทย์บรรเลงเพลง พระยาโศก

อานิสงส์  ผู้ใดบูชากัณฑ์ทานกัณฑ์ จักเป็นผู้มีเกียรติคุณปรากฏ เกียรติยศลือชา จักบริบูรณ์ด้วยแก้วแหวนเงินทอง ทาส ทาสี และสัตว์สองเท้าสี่เท้า ครั้นมรณาจักได้ไปเกิดในฉกามาพจรสวรรค์ มีนางเทพอัปสรแวดล้อมมากมายเสวยสุขอยู่ในปราสาทสร้างด้วยแก้ว ๗ ประการ 
       

๔.  กัณฑ์   วนปเวศน์    มี  ๕๗     พระคาถา   นำธูปและเทียนมาบูชาอย่างละ  ๕๗     ดอก
ความย่อ  เป็นกัณฑ์ที่สี่กษัตริย์เดินทางสู่เขาวงกต  เมื่อเดินทางถึงนครเจตราชทั้งสี่กษัตริย์จึงแวะเข้าประทับหน้าศาลาพระนคร ซึ่งเป็นบ้านพี่เมืองน้อง  กษัตริย์ผู้ครองนครเจตราชถวายการต้อนรับ ทราบความทุกข์ยากจากการเนรเทศ จึงทูลเสด็จครองเมือง  แต่พระเวสสันดรทรงปฏิเสธ  กษัตริย์เจตราชจึงมอบหมายให้พรานเจตบุตรผู้มีความเชี่ยวชาญชำนาญป่าเป็นผู้รักษาประตูป่าไม้  กษัตริย์ทั้ง 4 พระองค์ปลอดภัย 
ครั้นเมื่อเสด็จถึงเขาคีรียวงกตได้มีอาศรม ๒ หลัง  ซึ่งท้าววิษณุกรรมเนรมิตตามพระบัญชาของพระอินทร์  โดยพระเวสสันดรประทับอยู่เพียงลำพังหลังหนึ่ง พระมัทรีและชาลีกัณหาประทับอีกหลังหนึ่ง  ทุกวันมีกติกาว่า จะไม่ไปมาหาสู่กันฉันท์โลกียวิสัยในเวลาวิกาลและพระมัทรีทูลขอพรว่า ทุกวันขอให้พระนางได้เสด็จเข้าป่า เพื่อแสวงหาผลาผลไม้มาดูแลลูกและเจ้าประคุณผัว  กษัตริย์ทั้งสี่จึงทรงผนวชเป็นฤาษีพำนักในอาศรมสืบมา  
ปี่พาทย์บรรเลงเพลง พระยาเดิน ซึ่งเพลงนี้ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินเป็นหมู่พร้อมด้วยข้าราชบริพาร

อานิสงส์  ผู้ใดบูชากัณฑ์เทศน์วนประเวศน์ จักเป็นผู้มีกัลยาณมิตรในทุกทิศทุกสถาน จักได้รับความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า จะเฉลียวฉลาด สามารถปราบอริราชศัตรูให้ย่อยยับไปฯ


๕.  กัณฑ์   ชูชก             มี  ๗๙     พระคาถา   นำธูปและเทียนมาบูชาอย่างละ  ๗๙     ดอก


ความย่อ  กล่าวถึงเฒ่าชราตาชูชก เป็นคนวาสนาชะตาแรง พอเกิดมาพ่อแม่แย่งกันตายหมด ไปพึ่งพาอาศัยพี่น้องกี่โคตรก็มีอันเป็นไป เมื่อพึ่งพาใครไม่ได้ก็อาศัยกะลาเที่ยวขอทานตามเมืองต่างๆ  แต่เป็นคนประหยัดมัธยัสถ์ ไม่ประมาทการใช้จ่าย ประสมประสานทรัพย์ไว้ทีละน้อยๆได้ทองถึง ๑๐๐ กหาปณะ  เป็นลาภตามความเข็ญใจ ครั้นจะเก็บไว้กับตัวหรือก็กลัวภัย จึงนำไปฝากกับสองสามีภรรยาผู้พอจะไว้ใจกันมาแต่ก่อน แล้วบทจรมุ่งหน้าขอทานต่อไป  เป็นเวลาหลายปีที่ธชีชูชกไม่ย้อนมา สองสามีภรรยาเข้าใจว่าชูชกคงจะมีอันเป็นไปเสียแล้ว จึงเบาใจเอาเงินไปใช้เสียหมด ครั้นชูชกกลับมาทวงไม่มีให้ จึงประนอมหนี้ยกธิดาที่มีมามอบให้ นามว่าอมิตดาสิบห้าหยกๆ สิบหกหย่อนๆกำลังงอนกำลังงามให้แก่ตาชูชก  นางอมิตดาเมื่อมาอยู่ร่วมกับชูชกได้ทำหน้าที่ของภรรยาที่ดี  ทำให้ชายในหมู่บ้านเปรียบเทียบกับภรรยาของตน  หญิงในหมู่บ้านจึงเกลียดชังและรุมทำร้ายทุบตีนางอมิตดา  ชูชกจึงเดินทางไปทูลขอ กัณหาชาลี เพื่อมาเป็นทาสรับใช้  
กัณฑ์นี้ปี่พาทย์บรรเลงเพลง เส้นเหล้า

กัณฑ์ชูชก อานิสงส์  ผู้ใดบูชากัณฑ์ชูชก จะได้บังเกิดในตระกูลที่ประกอบด้วยสมบัติ อันงดงาม กว่าผู้อื่น จะเจรจากับผู้ใด ก็มีเสียงไพเราะ ครั้งจะได้สามี หรือภรรยา รวมทั้งมีบุตรก็จะมีรูปร่างทรงงดงาม สอนง่าย (ผู้ใดจะบูชากัณฑ์นี้ ควรอธิฐานด้วยความตั้งใจ เพราะชูชกได้ตั้งมั่นในคำอธิฐานตอนมีชีวิตอยู่ไว้)



๖.   กัณฑ์   จุลพน         มี  ๓๕      พระคาถา   นำธูปและเทียนมาบูชาอย่างละ  ๓๕     ดอก

ความย่อ  กล่าวถึงเฒ่าชูชกเมื่อเดินทางมาถึงเขาวงกต พบพรานเจตบุตรมฤคลุทพรานไพร ที่กษัตริย์เจคราชแต่งตั้งไว้ดูแลรักษาประตูป่า  ป้องกันไม่ให้ใครเข้าไปรบกวนพระเวสสันดร พระมัทรีและชาลีกัณหา  ตาชูชกใช้กุศโลบายว่าเป็นราชฑูต พร้อมได้ชูกลักพริกขิง เสบียงกรังที่นางอมิตดาจัดหามาให้ดู  อ้างว่าเป็นพระราชสาสน์ของพระเจ้ากรุงสญชัยในการทูลเชิญพระเวสสันดรกลับสู่พระนคร  พรานเจตบุตรหลงกลชูชก พรานเจตบุตรจึงต้อนรับและเลี้ยงดูชูชกเป็นอย่างดี ไม่ทำร้าย ซ้ำให้เนื้อย่างเป็นเสบียงเดินทาง และพรรณนาพาไปยังต้นทางที่จะไปอาศรมของพระอจุตฤาษี 
        ปี่พาทย์บรรเลงเพลง รัวสามลา เพลงนี้เป็นเพลงบรรเลงประกอบการแผลงฤทธิเดช หรือแสดงอาการโกรธเคืองอย่างน่าเกรงขาม

อานิสงส์  ผู้ใดบูชากัณฑ์จุลพน แม้จะบังเกิดในภพใด ๆ จักมั่งมีด้วยทรัพย์ศฤงคารบริวารมากมาย จะมีอุทยานอันดารดาษด้วยดอกไม้หอมตลบไป แล้วจะมีสระโบกขรณีอันเต็มไปด้วยปทุมชาติ ไปไหนมาไหนมีผู้บอกกล่าว ชี้แนะแนวทางให้ ครั้นตายไปแล้วก็ได้เสวยทิพยสมบัติในโลกหน้าสืบไปฯ

๗.  กัณฑ์   มหาพน       มี  ๘๐      พระคาถา   นำธูปและเทียนมาบูชาอย่างละ  ๘๐     ดอก
ความย่อ  ชูชกเดินทางมาถึงช่องแคบระหว่างคีรี เป็นตรอกน้อยรอยวิถีที่เฉพาะจร(ทางแคบเดินได้คนเดียว สวนทางกันไม่ได้) พบอาศรมบทพร้อมได้พบกับอจุตฤาษี  ถูกพระฤาษีตวาดว่า หน้าเช่นนี้คงจะมาร้ายมิได้มาดี คงจะมารบกวนหน่อพระชินสีห์เวสสันดร หรือไม่ก็พระมัทรีหรือชาลีกัณหาแน่   
ตาเฒ่าชูชกใช้จิตวิทยาหลีกเลี่ยงเอาตัวรอดหลอกล่อจน อจุตฤาษีหลงเชื่อ ให้กล้วย อ้อยและน้ำผึ้งเป็นอาหาร ให้พักด้วยหนึ่งราตรี รุ่งเช้าก็พาไปชี้ทางที่จะไปยังเขาวงกต กำหนดเป็นที่บำเพ็ญพรตพระเวสสันดร  
        กัณฑ์นี้ปี่พาทย์บรรเลงเพลง เชิดกลอง

อานิสงส์  ผู้ใดบูชากัณฑ์มหาพน จักมีปัญญาล้ำเลิศ ประเสริฐกว่าใครๆ เจรจาพาทีมีวาทศิลป์ เชื่อถือได้ จะได้เสวยสมบัติในดาวดึงส์เทวโลกนั้น มีทรัพย์ศฤงคารบริวารมาก มีอุทยานและสระโบกขรณีเป็นที่ประพาส เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยศักดานุภาพเฟื่องฟุ้งไปทั่ว อีกทั้งจักได้เสวยอาหารทิพย์เป็นนิจนิรันดรฯ

๘.  กัณฑ์   กุมาร           มี  ๑๐๑   พระคาถา   นำธูปและเทียนมาบูชาอย่างละ  ๑๐๑   ดอก

ความย่อ  พระมัทรีฝันร้ายเหมือนบอกเหตุแห่งการพลัดพราก  รุ่งเช้าเมื่อพระนางมัทรีเข้าป่าหาอาหารแล้ว  เฒ่าชราตาชูชกจึงเข้าเฝ้าทูลขอสองกุมาร  พระเวสสันดรก็ประทานให้ แต่ชาลีกัณหารักตัวกลัวภัย พากันไปซ่อนอยู่ในสระ  เอาวารีนั้นบังองค์เอาใบบุษบงส์บังพระเกศ  หวังจะซ่อนพระปิตุเรศกับตาเฒ่าด้วยความกลัว ชูชกหาไม่เจอก็ตัดพ้อต่อว่าพระเวสสันดรว่าเป็นนักบวชใจคด เป็นนักพรตเจ้าเล่ห์  พระเวสสันดรจึงเสด็จติดตามหาสองกุมารแล้วมอบให้แก่ชูชก พร้อมทั้งตีราคาค่าตัวลูกรักทั้งสองไว้ให้แก่ตาเฒ่าชูชกเป็นนัยไว้
ปี่พาทย์บรรเลงเพลง ฉิ่งโอด 

อานิสงส์  ผู้ใดบูชากัณฑ์กุมาร ย่อมประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนา ครั้นตายไปได้เกิดในฉกามาพจรสวรรค์ในสมัยพระศรีอาริยเมตไตรยมาอุบัติ ก็จะได้พบศาสนาของพระองค์จะได้ถือปฏิสนธิในตระกูลที่ดี ตลอดจนได้สดับฟังพระสัทธรรมเทศนาของพระองค์ แล้วบรรลุพระอรหันตผล พร้อมปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ด้วยบุญราศีที่ได้อบรมไว้ฯ

๙.  กัณฑ์   มัทรี             มี  ๙๐      พระคาถา   นำธูปและเทียนมาบูชาอย่างละ  ๙๐     ดอก

ความย่อ  พระนางมัทรีเดินเข้าไปหาผลไม้ในป่าลึกจนคล้อยเย็นจึงเดินทางกลับอาศรม  แต่มีเทวดาแปลงกายเป็นเสือนอนขวางทางจนค่ำ  เมื่อกลับถึงอาศรมไม่พบโอรสธิดาและพระเวสสันดรได้กล่าวว่านางนอกใจ  พระนางมัทรีจึงออกเที่ยวหาโอรสธิดาแต่มิพบพาน ครั้นกลับมาก็สิ้นสติต่อเบื้องพระพักตร์  พระองค์ทรงตกพระทัยลืมตนว่าเป็นดาบสจึงทรงเข้าอุ้มพระนางมัทรีและทรงกันแสง  เมื่อพระนางมัทรีฟื้นจึงถวายบังคมประทานโทษ  พระเวสสันดรจึงบอกความจริงว่าได้ประทานโอรสธิดาแก่ชูชกแล้ว  หากชีวิตไม่สิ้นคงจะได้พบกัน  พระนางมัทรีจึงได้ทรงอนุโมทนาในปิยบุตรทานนั้น
ปี่พาทย์บรรเลงเพลง ทะยอยโอด ซึ่งเป็นการแสดงถึงการได้รับความสะเทือนใจอย่างรุนแรง เช่น เดินพลางร้องไห้พลาง 

อานิสงส์   ผู้ใดบูชากัณฑ์มัทรี  จักไปในที่แห่งใด ก็จะมีแต่ความสุขความเจริญทุกหนแห่งถ้วนหน้า  เกิดในโลกหน้าจะเป็นผู้มั่งคั่ง สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ เป็นผู้มีอายุยืนยาว ทั้งประกอบด้วยรูปโฉมงดงามกว่าคนทั้งหลาย 


๑๐. กัณฑ์ สักกบรรพ   มี  ๔๓      พระคาถา   นำธูปและเทียนมาบูชาอย่างละ  ๔๓     ดอก

ความย่อ  พระอินทร์เกรงว่าพระเวสสันดรจะประทานพระนางมัทรีให้แก่ผู้ที่มาขอ  จึงแปลงเป็นพราหมณ์เพื่อมาทูลขอพระนางมัทรี  พระเวสสันดรจึงประทานให้พระนางมัทรีก็ยินดีอนุโมทนาเพื่อร่วมทานบารมีให้สำเร็จพระสัมโพธิญาณ  เป็นเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวสะท้าน  พระอินทร์ในร่างพราหมณ์จึงฝากพระนางมัทรีไว้ยังไม่รับไป  แล้วตรัสบอกความจริงและถวายคืนพร้อมถวายพระพร 8 ประการ
        ปี่พาทย์บรรเลงเพลง เหาะ เพื่อประกอบการเคลื่อนไหวของเทพยดา

อานิสงส์ ผู้ใดบูชากัณฑ์สักกบรรพ จักทำสิ่งใดๆจะมีผู้ใหญ่อุปถัมภ์ จะได้เป็นผู้เจริญด้วยลาภยศ ตลอดจนจตุรพิธพรทั้ง ๔ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ตลอดกาลฯ



๑๑. กัณฑ์ มหาราช       มี  ๖๙      พระคาถา   นำธูปและเทียนมาบูชาอย่างละ  ๖๙     ดอก

ความย่อ  เมื่อเดินทางผ่านป่าใหญ่ชูชกจะผูกสองกุมารไว้ที่โคนต้นไม้  ส่วนตนเองปีนขึ้นไปนอนต้นไม้  เหล่าเทพเทวดาจึงแปลงร่างลงมาปกป้องสองกุมารจนเดินทางถึงกรุงสีพี  พระเจ้ากรุงสีพีเกิดนิมิตฝันตามคำทำนายนั้นนำมายังความปีติปราโมทย์  เมื่อเสด็จลงหน้าลานหลวงตอนรุ่งเช้า  ทอดพระเนตรเห็นชูชกและกุมารทั้งสองพระองค์  ทรงทราบความจริงจึงพระราชทานค่าไถ่คืน  ต่อมาชูชกก็ถึงแก่ความตายเพราะกินอาหารมากเกินขนาดจนไม่ย่อย  พระชาลีจึงได้ทูลขอให้ไปรับพระบิดาพระมารดานิวัติพระนคร  ในขณะเดียวกันเจ้านครลิงคราษฏร์ได้คืนช้างปัจจัยนาคแก่นครสีพี
        กัณฑ์นี้ปี่พาทย์บรรเลงเพลง กราวนอก

อานิสงส์ผู้ใดบูชากัณฑ์มหาราชจักได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ เมื่อเกิดเป็นมนุษย์จะได้เป็นพระราชา เมื่อจากโลกมนุษย์ไป ก็จะได้ไปเสวยทิพยสมบัติในฉกามาพจรสวรรค์ มีนางเทพอัปสรเป็นบริวาร ครั้นบารมีแก่กล้าก็จะได้นิพพานสมบัติ อันตัดเสียซึ่งชาติ ชรา พยาธิ มรณะพ้นจากโอฆะทั้งสามมีกาโมฆะเป็นต้นฯ




๑๒. กัณฑ์ ฉกษัตริย์     มี  ๓๖      พระคาถา   นำธูปและเทียนมาบูชาอย่างละ  ๓๖     ดอก

ความย่อ  พระเจ้ากรุงสญชัยใช้เวลา 1 เดือน กับ 23 วัน จึงเดินทางถึงเขาวงกต  เสียงโห่ร้องของทหารทั้ง เหล่า  ทำให้พระเวสสันดรทรงคิดว่าเป็นข้าศึกมาโจมตีนครสีพี  จึงชวนพระนางมัทรีขึ้นไปแอบดูที่ยอดเขา  พระนางมัทรีทรงมองเห็นกองทัพพระราชบิดาจึงได้ตรัสทูลพระเวสสันดร  และเมื่อทั้งหกกษัตริย์ได้พบกันทรงกันแสงสุดประมาณ  รวมทั้งทหารเหล่าทัพทำให้ป่าใหญ่สนั่นครั่นครืน  พระอินทร์จึงได้ทรงบันดาลให้ฝนโบกขรพรรษตกลงมาประพรมกษัตริย์ให้หายเศร้าโศกและฟื้นพระองค์
     ปี่พาทย์บรรเลงเพลง ตระนอน ซึ่งเพลงนี้ใช้สำหรับตัวละครที่สูงศักดิ์เข้าบรรทม

อานิสงส์ผู้ใดบูชากัณฑ์ฉกษัตริย์จักเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะในการทุกเมื่อเป็นหนักแน่นไม่หวั่นไหว จะได้เป็นผู้เจริญ ด้วยพร ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ทุก ๆ ชาติแล


๑๓. กัณฑ์ นครกัณฑ์    มี  ๔๘      พระคาถา   นำธูปและเทียนมาบูชาอย่างละ  ๔๘     ดอก
     ความย่อ  พระเจ้ากรุงสญชัยตรัสสารภาพผิด  พระเวสสันดรจึงทรงลาผนวชพร้อมทั้งพระนางมัทรี  และเสด็จกลับสู่สีพีนคร  เมื่อเสด็จถึงจึงรับสั่งให้ชาวเมืองปล่อยสัตว์ที่กักขัง  ครั้นยามราตรีพระเวสสันดรทรงปริวิตกว่า  รุ่งเช้าประชาชนจะแตกตื่นมารับบริจาคทาน  พระองค์จะประทานสิ่งใดให้แก่ประชาชน  ท้าวโกสีย์ได้ทราบจึงบันดาลให้มีฝนแก้ว 7 ประการ  ตกลงมาในนครสีพีสูงถึงหน้าแข้ง พระเวสสันดรจึงทรงประกาศให้ประชาชนมาขนเอาไปตามปรารถนา  ที่เหลือให้ขนเข้าพระคลังหลวง  ในกาลต่อมาพระเวสสันดรเถลิงราชสมบัติปกครองนครสีพีโดยทศพิธราชธรรม  บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขตลอดพระชนมายุ
        ปี่พาทย์บรรเลงเพลง กลองโยน แล้ว เชิด เมื่อบรรเลงเพลงเชิดจบแล้ว ก็บรรเลงเพลง กราวรำ ติดต่อกันไปเลย เพื่อแสดงถึงการเสร็จพิธีการเทศนามหาชาติ

อานิสงส์ผู้ใดบูชากัณฑ์นครกัณฑ์จักได้เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยวงศาคณาญาติ ข้าทาสชายหญิง ธิดาสามี หรือบิดามารดาเป็นต้น อยู่พร้อมหน้ากันโดยความผาสุก ปราศจากโรคาพาธทั้งปวง จะทำการใด ๆ ก็พร้อมเพรียงกัน ยังการงานนั้น ๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

        
                
 สถานที่เทศน์มหาชาติ มักนิยมจัดประชุมกันที่ศาลาการเปรียญ เพราะเป็นสถานที่ใหญ่และกว้างขวางเหมาะสำหรับคนจำนวนมาก นิยมปักต้นกล้วยหรือต้นอ้อยไว้ตามประตูวัดหรือทางที่จะเข้าไปในบริเวณที่มีเทศน์นั้น เพื่อจะให้คล้ายกับประตูท้องเรื่องเวสสันดรชาดก และนิยมปักฉัตรและธงประดับประดาไว้ด้วย ก็เพื่อแสดงว่าเป็นของสูงสำหรับกษัตริย์หมายถึงพระเกียรติยศของพระเวสสันดร นิยมตั้งธรรมาสน์บนอาสน์สงฆ์ให้เด่น บางทีมีต้นไทยประดับบุปผชาติงามตระการตาปักไว้ด้านหลังธรรมาสน์ให้ปกคลุมบนธรรมาสน์ด้วย
                 
การที่ทำเช่นนั้นก็เพื่อจะให้หมายถึงนิโครธาราม อันเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าประทับแสดงเรื่องเวสสันดรชาดกเป็นมูลเหตุ ตามศาลาการเปรียญหรือสถานที่ใช้เทศน์มักนิยมจะมีภาพแสดงเรื่องมหาชาติติดไว้ด้วย เพื่อน้อมนำพุทธศาสนิกชนทั้งหลายให้หวนระลึกถึงกาลในครั้งนั้นตามท้องเรื่อง ที่ข้างหน้าหรือข้าง ๆ ธรรมาสน์พระเทศน์ ก็นิยมตั้งขันสาครใบใหญ่เป็นขันน้ำมนต์ไว้ เมื่อถึงกัณฑ์ไหนก็จุดธูปและเทียนจำนวนเท่าคาถาในกัณฑ์นั้น ติดเทียนที่รอบปากขันน้ำมนต์ ธูปนั้นปักไว้ในกระถางที่ตั้งไว้ใกล้กับขันน้ำมนต์นั้น น้ำมนต์ที่ตั้งไว้ในมณฑลพิธีเทศน์มหาชาตินี้ ถือกันสืบมาว่าใช้ประพรมเพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลและเพื่อบำบัดความเสนียดจัญไรได้ผลอย่างชะงักนักแล ส่วนเครื่องไทยธรรมสำหรับบูชากัณฑ์เทศน์นั้น นิยมตั้งบูชาแสดงไว้ให้สัปบุรุษทั้งหลายอนุโมทนา เครื่องกัณฑ์นั้นมักมีเครื่องสรรพาหาร ผลไม้นานาชนิด กับวัตถุปัจจัยและผ้าไตร อันนี้เป็นธรรมเนียมมิใคร่ขาด บางกัณฑ์ก็มีเครื่องบริขารอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกด้วยก็มีมาก
                 
ส่วนบริขารสำหรับบูชากัณฑ์เทศน์มหาชาติที่ถือกันว่าถอดแบบแผนนั้น นิยมจัดให้ครบจตุปัจจัย ๔ ประการ คือ ผ้าไตรอนุโลมเข้าในจีวรปัจจัย สรรพาหารและผลไม้นานาชนิดอนุโลมเข้าในบิณฑบาตปัจจัย เสื่อสาดอาสนะ ไม้กวาด เลื่อย สิ่ว ขวาน เป็นต้น อนุโลมเข้าในเสนาสนะปัจจัย ยารักษาโรคต่างชนิดและเภสัช ๕ มีน้ำผึ้งและน้ำตาลเป็นต้นอนุโลมเข้าในคิลานปัจจัย เครื่องไทยทานบูชากัณฑ์มหาชาตินี้มักมีมากกว่าเครื่องบูชากัณฑ์เทศน์สามัญที่เรียกว่าเทศน์ธรรมวัตร  ส่วนปัจจัยประจำกัณฑ์นั้นนิยมติดบนต้นเทียนซึ่งปักตั้งไว้บนพานรอง  ผู้มาฟังเทศน์มีศรัทธาสมัครใจจะบริจาคบ้างก็จับปัจจัยขึ้นจบอธิษฐานแล้วติดที่ต้นเทียน หรือจะใส่ลงในพานรองต้นเทียนนั้นก็ได้
                 
เครื่องบูชากัณฑ์เทศน์มหาชาติอันเป็นของเว้นเสียมิได้คือ ฉัตร ธง ธูป เทียนและดอกไม้ อย่างละหนึ่งพัน ไม่ว่าจะมีเทศน์มหาชาติที่ไหนย่อมจะได้เห็นที่นั่น ที่สุดจนตามศาลาวัดในส่วนภูมิภาคก็ยังไม่เว้นฉัตร ธง ธูป เทียน และดอกไม้ เหตุทั้งนี้ก็เป็นด้วยความนิยมทำตามเทพยบัญชาของศรีอริยเมตไตรยเทพบุตร เพื่อจะได้พบศาสนาพระศรีอริยเมตไตรย จะได้สมบูรณ์ด้วยความสุขอันประเสริฐ ทั้งจะได้ไปสู่เมืองแก้วกล่าวคือพระนฤพาน จึงถือเป็นธรรมเนียมของการมีเทศน์มหาชาติที่จะต้องทำเช่นนั้นเสมอมาจนทุกวันนี้

อานิสงส์แห่งการฟังเทศน์มหาชาติ
                  การที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายผู้นับถือพระพุทธศาสนาในประเทศไทย นิยมบำเพ็ญกุศลบริจาคทานในพิธีเทศน์มหาชาตินี้มาก แปลกกว่าการสร้างกุศลโดยนัยอย่างอื่น ๆ ก็เพราะมีมูลเหตุอันสำคัญเป็นเครื่องชักจูงใจให้เกิดศรัทธาปสาทะความเชื่อและความเลื่อมใส ประการ คือ
                  ๑.  เพราะมีความเชื่อกันด้วยความแน่ใจว่า เรื่องมหาชาติหรือเรื่องเวสสันดรชาดกนี้เป็นพระพุทธวจนะที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสประทานเทศนาแก่พระภิกษุสงฆ์พุทธบริษัท ณ นิโครธาราม ในกรุงกบิลพัสดุ์  เป็นเรื่องจริงที่ออกจากพระโอษฐ์โดยตรง เป็นเรื่องที่พระพุทธองค์ทรงเล่า เพราะความจริงมีอยู่ว่าบรรดาพระพุทธวจนะทั้งหลาย เมื่อผู้ใดได้สดับด้วยความเชื่อความเลื่อมใสก็ย่อมจะเกิดสิริสวัสดิมงคลแก่ชีวิตของผู้นั้น และเป็นการสร้างสมอบรมปัญญาบารมีธรรม อันจะเป็นปุพเพกตปุญญตาสำหรับตนสืบต่อไปในภายหน้า พุทธศาสนิกชนทั้งหลายผู้ที่ยินดีแสวงหาบุญกุศลก็ย่อมมุ่งหมายที่จะพึงบำเพ็ญตามความสามารถ ในเมื่อมีเทศน์มหาชาติขึ้นแต่ละครั้งเสมอมา
                 
๒.  เพราะมีความเชื่อกันสืบมาว่า พระศรีอริยเมตไตรยเทพบุตรซึ่งจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ต่ออายุพระพุทธศาสนาของพระศรีศากยมุนีสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ไปซึ่งอุบัติอยู่ในเทวโลกสวรรค์นั้นได้มีเทวโองการสั่งพระมาลัยเถระผู้มีบุญญาภินิหารอย่างยิ่งได้ขึ้นไปถึงสวรรค์ชั้นนั้นให้มาบอกแก่มนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ว่า ถ้าผู้ใดมีความปรารถนาจะใคร่ประสบพบพระศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรยซึ่งนิยมกันว่า บุคคลผู้จะเกิดทันศาสนาพระศรีอริยเมตไตรยนั้นล้วนเป็นผู้ได้สร้างสมอบรมบุญบารมีธรรมไว้สมบูรณ์แล้ว พร้อมที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน จึงเป็นมนุษย์ที่มีความเจริญทุกประการ เป็นที่เกษมศานติ์อย่างยิ่งยวด เป็นต้นว่ารูปก็งาม เพราะเกิดจากผลานิสงส์ที่ได้บำเพ็ญศีลบารมีอย่างสมบูรณ์ จึงมีรูปสวยงามเหมือนกันหมด จนลงจากบันไดเรือนแล้วก็จำหน้ากันไม่ได้ เพราะมีหน้าสวยงามเหมือนกัน จะปรารถนาสิ่งใดก็ได้สมประสงค์ ด้วยมีต้นกัลปพฤกษ์สำหรับจะให้ผู้ที่นึกไหนได้นั่น เพราะเกิดจากผลานิสงส์ที่ได้บำเพ็ญทานมาอย่างสมบูรณ์ เป็นคนมีสติปัญญาดี เพราะเกิดจากผลานิสงส์ที่ได้บำเพ็ญภาวนามาอย่างสมบูรณ์ย่อมไม่มีคนพิกลพิการต่าง ๆ เช่นคนตาบอด หูหนวก บ้าใบ้ วิกลจริต เป็นต้น แผ่นดินก็ราบเรียนเสมือนหน้ากลอง ที่สุดจนน้ำในแม่น้ำก็เต็มเปี่ยมฝั่งจนกระทั่งกาก้มดื่มได้ น้ำก็ไหลขึ้นข้างหนึ่งไหลลงอีกข้างหนึ่งอยู่เป็นนิตย์ และทุกคนที่เกิดทันศาสนาพระศรีอริยเมตไตรยแล้วย่อมได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ดังนี้เป็นต้นแล้ว ก็จงให้ผู้นั้นสดับฟังเวสสันดรชาดกอันประดับด้วยพระคาถา ๑,๐๐๐ พระคาถา ในวันและราตรีเดียวให้จบ และให้บูชาด้วยประทีปธูปเทียน ธงฉัตร สารพันดอกไม้ ดอกบัว ดอกจงกลนี ราชพฤกษ์ ดอกผักตบ ให้ครบจำนวนถ้วนสิ่งละหนึ่งพัน ผลานิสงส์นั้นจะชักนำให้สมมโนรถจำนงฉะนี้  เพราะเหตุนี้ ผู้ซึ่งมุ่งหมายจะใคร่พบพระศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรย จึงตั้งใจบำเพ็ญบารมีธรรมในการสดับฟังเทศน์มหาชาตินี้เป็นประจำสืบ ๆ กันมา
                 
๓.  เพราะการเทศน์มหาชาตินี้ ท่านผู้เทศน์ก็แสดงด้วยกระแสเสียงเป็นทำนองไพเราะต่าง ๆ กัน สามารถโน้มน้าวจิตใจผู้สดับฟังให้เกิดปีติโสมนัสรื่นเริงบันเทิงใจ ทำให้เกิดความซาบซึ้งในรสแห่งพระธรรมเทศนาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเหตุนี้ ผู้ที่หวังความปราโมทย์ก็ย่อมมุ่งหมายที่จะบำเพ็ญบุญกุศลด้วยการสดับฟังเทศน์มหาชาตินี้
                 
 เพราะอาศัยประโยชน์ที่จะเกิดจากการสดับฟังเทศน์มหาชาติประกอบด้วยมูลเหตุที่สำคัญ ๓ ประการดังกล่าวแล้ว พุทธศาสนิกชนทั้งหลายผู้มุ่งถึงประโยชน์จะเกิดมีแก่ตน จึงมีความเห็นว่าการที่ตนได้สดับฟังพระพุทธวจนะเรื่องมหาชาติหรือเรื่องเวสสันดรชาดกนี้ ถือกันว่าเป็นบุญกุศลเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ไม่ผิดกับการได้สดับพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตรหรือพระอนัตตลักขณะสูตรอันเป็นความดีส่วนหนึ่งแล้ว ยังสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจดีกว่าการบำเพ็ญทานมัยกุสลอย่างอื่น ๆ เพราะเหตุนี้ การมีเทศน์มหาชาติจึงเฟื่องฟูเป็นที่นิยมกันสืบ ๆ มาจนเป็นสิ่งที่ควรมี ควรทำประจำใจในบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลายผู้นับถือพระพุทธศาสนา
                 
เพราะฉะนั้น คราวออกพรรษาแล้ว เมื่อไปทางเรือหรือไปทางบกมักจะได้พบเห็นต้นกล้วยต้นอ้อยกับฉัตรธงผูกไว้ที่สะพานหน้าวัด หรือหน้าศาลาการเปรียญและศาลาโรงธรรม เป็นนิมิตหมายบอกให้รู้ได้ทันที เพราะความเคยชินที่เจนใจมาแล้วว่านั่นเขามีเทศน์มหาชาติกัน เพราะตามวัดหรือศาลาโรงธรรมต่าง ๆ มักจะมีเทศน์มหาชาติกันทุก ๆ แห่ง ทุก ๆ ปี ยิ่งหัวเมืองแล้วแทบจะกล่าวได้ว่าว่างเว้นมิได้เลย ราวกะการทอดกฐินประจำปี ที่สุดจนในพระบรมมหาราชวังก็มักนิยมจัดให้มีเทศน์มหาชาติเป็นพระราชจริยานุกิจ พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนาก็มักหัดเทศน์มหาชาติกัณฑ์ใดกัณฑ์หนึ่งมาเทศน์ถวายด้วย
                 
เมื่อเทศน์มหาชาติขึ้น ณ สถานที่ใด พุทธศาสนิกชนทั้งหลายในจังหวัดนั้นหรือในจังหวัดใกล้เคียง หรือผู้อยู่ไกลเดินทางมาพบเข้า มักไปชุมนุมฟังกันจำนวนมาก และเป็นที่เข้าใจกันจนซึมซาบแล้ว่า การมีเทศน์มหาชาตินี้เป็นนักขัตฤกษ์อันสำคัญอย่างหนึ่ง ต่างแต่งตัวประดับประดาให้หมดจดสวยงาม เป็นที่ออกหน้าออกตาเชิงประกวดประชันกัน ทั้งฝ่ายพระสงฆ์ก็มักนิยมเป็นธรรมเนียมชวนกันมาประชุมฟังจำนวนมากเป็นที่สมัครสโมสรเอิกเกริก แม้แต่พระสงฆ์และสามเณรผู้จะแสดงเทศนาเองก็ดูเหมือนจะรู้สึกว่าเป็นการออกแขก มักนิยมครองผ้าใหม่ ๆ บางองค์ก็ครองจีวรแพร มีย่ามเข้าขาบเยียรบับ และผ้าห่อคัมภีร์อันวิจิตรสุดแต่จะหาได้ ผ้าห่อคัมภีร์นั้นนิยมใส่ในหีบไม้อีกชั้นหนึ่ง ให้ศิษย์แบกนำหน้า ศิษย์หาก็ตามพรั่งพรูดูมากกว่าปรกติหลายส่วน เพื่อสำหรับจะได้ช่วยอนุเคราะห์เขาและช่วยขนเครื่องกัณฑ์เทศน์อีกด้วย
                 
อนึ่ง ชาวพุทธทั้งหลายถือกันสืบมาว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงเทศนาชาดกจบลงแล้วย่อมทรงแสดงจตุราริยสัจคืออริยสัจ ๔ ประการต่อไปทุกเรื่อง จึงปรากฏเป็นธรรมเนียมนิยมสืบต่อกันมาว่า เมื่อมีเทศน์มหาชาติแล้วย่อมมีเทศน์อริยสัจ ๔ ประการต่อไปในวันรุ่งขึ้นอีกด้วย
                 
ความจริง อริยสัจธรรม ๔ ประการนั้นเป็นอนุตรธรรม คือเป็นธรรมอย่างยอดเยี่ยม สมควรที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะศึกษาและสดับฟัง  ย่อมจะเกิดบุญราศีแก่ผู้ฟังโดยมิต้องสงสัย อีกประการหนึ่ง เมื่อพุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้สดับฟังเรื่องที่สนุกสนานร่าเริงบันเทิงใจในขณะหนึ่งแล้ว ก็ควรจะได้มีเวลาอีกขณะหนึ่งไว้สำหรับปลงใจลงสดับฟังพระสัทธรรมที่แท้จริง อันสามารถจะช่วยบรรเทาทุกข์ประเทืองสุข เพราะการฟังธรรมตามกาละที่สมควรอย่างนี้ย่อมเป็นอุดมมงคลแก่ชีวิตประการหนึ่ง 

 สมด้วยนัยพระบาลีพุทธภาษิตในมงคลสูตรว่า กาเลน  ธมฺมสฺสวนํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ แปลความว่า การฟังธรรมตามกาละที่สมควรนี้ ย่อมเป็นอุดมมงคลแก่ชีวิต คือเป็นเหตุให้เกิดความเจริญรุ่งเรื่องอย่างสูงสุดประการหนึ่ง ดังนี้

ที่มา...พระราชธรรมวาที     วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กทม.
ขออนุโมทนา...พระครูโสภณปริยัติยานุกิจ (อาทิตย์) 
และขอขอบคุณ....แหล่งที่มาของภาพต่างๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น